[go: nahoru, domu]

ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าแก้วมงคล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าแก้วมงคล
เจ้าผู้ครองเมืองท่งศรีภูมิพระองค์แรก ผู้สร้างเมืองท่งศรีภูมิ
ดำรงตำแหน่ง
2256–2268
ถัดไปเจ้ามืดคำดล
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดพ.ศ. 2184
นครหลวงเวียงจันทน์
เสียชีวิตพ.ศ. 2268 (84 ปี)
เมืองท่งศรีภูมิ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
ศาสนาศาสนาพุทธ

เจ้าแก้วมงคล หรือ เจ้าแก้วบรม (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๕๖-๒๒๖๘) คนท้องถิ่นออกเสียงว่า เจ้าแก้วบูฮม (ลาว: ເຈົ້າແກ້ວມຸງຄຸນ) เจ้านายลาวผู้สร้างเมืองท่งหรือเมืองทุ่งศรีภูมิ (ลาว: Tung Si Phum) และเจ้าผู้ครองเมืองทุ่งศรีภูมิพระองค์แรกจากราชวงศ์ล้านช้าง (หลังการย้ายราชธานีจากหลวงพระบางมาสู่นครหลวงเวียงจันทน์) ปัจจุบันคือ ตำบลทุ่งศรีเมือง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ในภาคอีสานของประเทศไทย[1] ซึ่งต่อมาทายาทได้ย้ายไปตั้งเป็นเมืองใหม่ชื่อ เมืองสุวรรณภูมิ ในเอกสารใบลานเรื่องพงสาวดารเมือง (บั้งจุ้มหรือตำนานเมือง) ออกนามเมืองว่า สีวัลลพูม[2] เจ้าแก้วมงคลทรงเป็นปฐมราชวงศ์เจ้าจารย์แก้วของภาคอีสานซึ่งเป็นราชวงศ์หนึ่งที่แยกมาจากราชวงศ์ล้านช้างในอดีต เนื่องจากทรงเป็นปฐมบรรพบุรุษของเจ้าผู้ปกครองหัวเมืองลาวในภาคอีสานมากกว่า ๒๐ หัวเมืองและภาคเหนืออีกหนึ่งหัวเมือง

ราชตระกูลแห่งนครเวียงจันทน์

[แก้]

เจ้าแก้วมงคล ทรงเป็นพระโอรสในเจ้าศรีวิชัย เป็นพระนัดดาในเจ้ามหาอุปราชศรีวรมงคลหรือพระยาธรรมิกราช[3] เป็นพระราชปนัดดาในสมเด็จพระเจ้าวรวงศาธรรมิกราชหรือพระมหาอุปราชวรวังโส พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้างพระองค์ที่ ๒๖ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๒๘-๒๑๖๕) สมเด็จพระเจ้าวรวงศาธรรมิกราชเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าโพธิศาละราช พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้างพระองค์ที่ ๑๗ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๐๖๓-๒๐๙๐) นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าวรวงศาธรรมิกราชยังเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช มหาราชพระองค์ที่ ๒ ของประเทศลาว พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้างพระองค์ที่ ๑๙ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๐๙๑-๒๑๑๔)

โมเดล เจ้าแก้วมงคล โดย อ.พิทักษ์ เฉลิมเล่า ประติมากร สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เครดิตภาพ โดย ทายาทเจ้าแก้วมลคล สายสกุล ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม

เกี่ยวกับพระนาม

[แก้]

เจ้าแก้วมงคลมีพระนามปรากฏในประวัติศาสตร์หลายพระนาม บางแห่งออกพระนามว่า จารย์แก้ว หรือ เจ้าจารย์แก้ว หรือ ท้าวจารย์แก้ว เนื่องจากเคยอุปสมบทเป็นศิษย์ของสมเด็จพระเจ้าสังฆราชาสัทธรรมโชตนาญาณวิเศษ หรือเจ้าราชครูหลวงวัดโพนเสม็ด (ญาครูขี้หอม) อดีตสมเด็จพระสังฆราชแห่งเวียงจันทน์ บางแห่งออกพระนามว่า เจ้าแก้วบูฮม หรือ เจ้าแก้วบุรม หรือ เจ้าแก้วบรม บางแห่งออกพระนามว่า เจ้าแก้วมุงคุล หรือ เจ้าแก้วมุงคุน ซึ่งตรงกับสำเนียงไทยว่า เจ้าแก้วมงคล พระนามของพระองค์คือคำว่า แก้ว ตรงกับภาษาบาลีว่า รัตนะ (รตน) กษัตริย์ฝ่ายสยามได้นำมาเป็นราชทินนามเพื่อพระราชทานแก่ทายาททุกพระองค์ของพระองค์ที่ขึ้นปกครองเมืองสุวรรณภูมิในเวลาต่อมาว่า รัตนวงศา หรือ รัตนวงศามหาขัติยราช

พระราชประวัติ

[แก้]

เป็นเจ้าเมืองท่ง

[แก้]

ปี พ.ศ. ๒๒๓๘ สมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างเวียงจันทน์เสด็จสวรรคต พระยาแสนสุรินทรลือชัยไกรเสนาบดีศรีสรราชสงคราม (ท้าวมละ) ตำแหน่งเมืองแสน (อัครมหาเสนาบดี) ชิงเอาราชสมบัติ และตั้งตนเป็น กษัตริย์สืบราชสมบัติ ต่อเจากสมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช และหวังส้รางความชอบธรรมด้วยการอภิเษก กับเชื้อพระวงศ์ โดย บังคับ พระนางสุมังคลา (พระนางสุมังคลากุมารี) ผู้เป็น พระชายา ของ เจ้าชมพู และพระราชมาดา ของ เจ้าฟ้าไชย (เจ้าไชยองค์เว้ ) โดยหลังจาก ที่เจ้าชมพู พระสวามี เสด็จสวรรคต ที่กรุงเว้ พระนางฯ ได้เสด็จกลับ มา เวียงจันทน์ ในช่วงวาระสุดท้ายของพระราชบิดา (พระเจ้าสุริยวงศาฯ) จนพระราชบิดา สวรรคต เมื่อพระยาแสนสุรินทรลือชัย ปราบเจ้านายและเชื้อพระวงศ์อื่นสำเร็จ หลังบังคับพระนางสุมังคลา เป็นพระชายาได้แล้ว พระนางได้ทรงประสูติ เจ้าชาย หนึ่งพรองค์ คือ พระองค์นอง ในปีเดียวกัน พระโอรสของ เจ้านางสุมังคลา กับเจ้าชมพู อีกองค์ (ผู้เป็นน้องชายของ เจ้าไชยองค์เว้) คือเจ้าองค์หล่อ (เจ้าไชยองค์เวียต) ที่หลบหนีไปอยู่เมืองพานพูชน ได้เสด็จกลับเวียงจันทน์ พร้อมเข้ายึดอำนาจจาก พระยาแสนสุรินทรลือชัย และขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ ได้ 3 ปี เจ้านันทราช พระราชโอรสองค์รองของ เจ้าวิชัย (มีศักดิ์ เป็น เสด็จอา ของพระเจ้าสุริยวงศาฯ) ที่เป็นเจ้าเมืองครอง เมืองละคร (นครพนม) ในขณะนั้น ได้เข้าทำการชิงเมือง จาก "เจ้าองค์หล่อ" สำเร็จ ได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จบาทอัญญาเจ้านันทราชศรีสัตตนาคนหุต เป็นกษัตริย์ลำดับต่อมา หลังครองราชย์ได้ 3 ปี พระโอรสของพระนางสุมังคลา กับ เจ้าชมพู พระองค์ใหญ่ คือ เจ้าฟ้าไชย (เจ้าไชยองค์เว้) ได้เสด็จกลับจาก กรุงเว้ มาทวงราชบัลลังก์ โดยการสนับสนุนของพระเจ้ากรุงเว้ หลังเจ้าไชยองค์เว้ เสด็จเข้ากรุงเวียงจันทน์ และทำการปราบปราม เจ้านันทราช และผู้สนับสนุนเรียบร้อย ได้ทรงขึ้นครองราชย์ เป็น สมเด็จบาทอัญญาเจ้ามหาศรีไชยเชษฐาธิราชธรรมราชาจันทบุรีศรีสัตตนาคนหุต จากนั้น ได้ทำการตัดรากถอนโคน กลุ่มผู้สนับสนุนและ ทายาทของ พระยาแสนสุรินทรลือไชย รวมทั้ง กลุ่ม เจ้านันทราชองค์อื่นๆ ซึ่ง รวมทั้งราชโอรส อันเกิดแต่ พระยาแสนสุรินทรลือชัย กับพระนางสุมังคลา (พระราชมารดาของ เจ้าไชยองค์เว้) ด้วย พระนางสุมังคลา เห็นเป็นภัยแก่พระองค์และทารกในพระครรภ์ จึงได้ขอความช่วยเหลือ ไปยังพระญาติ อันเป็นสายทายาทพระเจ้าอาว์ (เจ้าวิไชย) คือ เจ้าแก้วมงคล ที่ยังทรงผนวชอยู่ กับเจ้าราชครูโพนสะเม็ก เจ้าแก้วมงคล ได้ทรงลาสิกขาบท และเชื้อพระวงศ์องค์ต่างๆ นำกำลังลักลอบเข้าช่วยเหลือ พระนางสุมังลา และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์หนีราชภัยลงมาทางใต้พร้อมด้วยเจ้าราชครูหลวงวัดโพนเสม็ก ต่อมา ปี พ.ศ. ๒๒๕๖ เจ้าแก้วมงคลช่วยเหลือเจ้าหน่อกษัตริย์พระโอรสในเจ้านางสุมังคละ พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าสุริยวงษาธรรมิกราช และช่วยเหลือเจ้าราชครูหลวงวัดโพนเสม็ดสถาปนาราชอาณาจักรล้านช้างฝ่ายใต้สำเร็จ เจ้าหน่อกษัตริย์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตแห่งนครกาลจำบากนาคบุรีศรี (จำปาศักดิ์) ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร[4] พระองค์จึงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าแก้วมงคลนำกำลังคนในสังกัดของตนข้ามแม่น้ำโขงไปยังบริเวณริมแม่น้ำเสียว ซึ่งเป็นทำเลทุ่งกว้างสำหรับทำนาและให้แหล่งเกลือด้วย แล้วตั้งเป็นเมืองชื่อว่า เมืองทุ่งศรีภูมิ (ปัจจุบันอยู่บริเวณตำบลเมืองทุ่ง และบ้านดงไหม่ ตำบลทุ่งศรีเมือง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด)[5] ให้เจ้าแก้วมงคลเป็นเจ้าผู้ครองเมืองเสมอกษัตริย์ประเทศราช มีอำนาจสิทธิ์ขาดจัดราชการบริหารบ้านเมืองตามแบบอาญาสี่เช่นเดียวกับนครจำปาศักดิ์ทุกประการ เมื่อครั้งเดินทางมาถึงบริเวณที่จะตั้งเมืองนั้นเป็นเวลาสว่างพอดีคนทั่วไปจึงเรียกบริเวณนั้นว่า แจ้งเมืองท่ง (แจ้งเมืองทุ่ง) หรือแจ้งบ้านท่ง (แจ้งบ้านทุ่ง) พระองค์จึงโปรดฯ ให้สร้างวัดชื่อว่า วัดจำปานคร (วัดบ้านดงใหม่) บริเวณบ้านดงใหม่ ตำบลทุ่งศรีเมือง ตามนามของเมืองจำปานครบุรีอันเป็นเมืองเก่าซึ่งร้างไปก่อนตั้งเมืองท่ง ยุคต่อมา ทายาทของพระองค์ได้ย้ายเมืองไปตั้งยังสถานที่แห่งใหม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงสถาปนาเมืองท่งศรีภูมิใหม่เป็นเมืองประเทศราชออกนามว่า เมืองสุวรรณภูมิราชบุรียประเทศราช หรือเมืองสุวรรณภูมิราชบุรินทร์[6]

เมืองที่ทรงปกครอง

[แก้]

เมืองทุ่งศรีภูมิหรือเมืองท่งสีพูมนั้นคนทั่วไปออกนามว่าเมืองท่งหรือเมืองทุ่ง เป็นเมืองที่มีนุ่งนากว้างขวางและเป็นอู่อารยธรรมมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เดิมเป็นที่ตั้งของนครโบราณในตำนานนามว่า นครจำปานาคบุรี แล้วล่มสลายไป ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าฟ้างุ่มแหล่งหล้าธรณีมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๘๙๖-๑๙๑๕) ทรงเสด็จมาตีเมืองต่างๆ ในเขตอีสาน และปรากฏเมืองสองเมืองในบริเวณแถบนี้คือ เมืองกว้างท่ง และเมืองสะพังสี่แจ[7] เมืองสะพังสี่แจนี้มีแม่น้ำสี่สายล้อมรอบตามมุมทั้งสี่ทิศของเมือง ต่อมาชาวบ้านทั่วไปออกนามว่า บ้านดงเมืองหาง เนื่องจากเป็นเมืองร้างมีป่าทึบ หลังจากเจ้าแก้วมงคลอพยพไพร่พลมาตั้งเมืองท่งในเขตเมืองกว้างท่งและเมืองสะพังสี่แจเก่าแล้ว จึงมีการออกนามเมืองท่งในพงศาวดารหัวเมืองมลฑลอีสานว่า เมืองสระสี่แจ่ง แฮ้งสี่ตัว แม่ญิงเอาผัว ผู้ชายออกลูก ทายาทในชั้นต่อมาได้ปกครองเมืองต่อจากพระองค์ในบรรดาศักดิ์ พระรัตนาวงษามหาขัติยราช หมายถึง พระราชาผู้เป็นเชื้อสายของเจ้าแก้วมงคล แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น เมืองสุวรรณภูมิ หรือเมืองสุวัณณภูมิ หลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบที่นครจำปาศักดิ์แล้ว เมืองสุวรรณภูมิได้ตั้งเป็นเอกราชอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง ก่อนจะถูกบังคับให้เป็นเมืองขึ้นของกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตามลำดับ[8]

พระราชโอรส

[แก้]

เจ้าแก้วมงคลทรงมีพระราชโอรสที่ปรากฏพระนามอยู่ ๓ พระองค์ ได้แก่

  1. เจ้าองค์หล่อหน่อคำ เจ้าผู้ครองเมืองน่าน (นันทบุรี) ทรงประสูติแต่พระราชมารดาซึ่งเป็นพระราชธิดาในเจ้าผู้ครองนครน่าน
  2. เจ้ามืดดำดล หรือท้าวมืด หรือท้าวมืดซ่ง เอกสารบางแห่งออกพระนามว่า เจ้ามืดคำดล เนื่องจากทรงประสูติในวันสุริยุปราคา ทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าเมืองท่งศรีภูมิพระองค์ที่ ๒
  3. เจ้าสุทนต์มณี หรือท้าวทน (ทนต์) ดำรงพระยศเป็นอดีตเจ้าอุปฮาดเมืองท่งศรีภูมิ ต่อมาได้เลื่อนเป็นเจ้าเมืองท่งศรีภูมิพระองค์ที่ ๓ และเป็นที่พระยาขัติยะวงษาเจ้าเมืองร้อยเอ็ดพระองค์แรก ทรงเป็นต้นตระกูล ธนสีลังกูร แห่งจังหวัดร้อยเอ็ด[9]

พิราลัย

[แก้]

เจ้าแก้วมงคลทรงถึงแก่พิราลัย ณ เมืองทุ่งศรีภูมิ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๖๘ สิริรวมพระชนม์มายุได้ ๘๔ วัสสา รวมเวลาปกครองเมืองทุ่งศรีภูมิได้ ๑๒ ปี เอกสารบางแห่งกล่าวว่าทรงปกครองเมืองทุ่งศรีภูมิได้ ๗ ปี [10] เจ้ามืดดำดล หรือ ท้าวมืด หรือท้าวมืดซ่ง พระราชโอรสพระองค์โตทรงขึ้นครองราชย์เมืองทุ่งศรีภูมิสืบต่อจากพระองค์ต่อไป[11]

ปฐมราชวงศ์เจ้าจารย์แก้ว

[แก้]

หลังจากที่เจ้าแก้วมงคลทรงถึงแก่พิราลัยแล้ว ทายาทบุตรหลานของพระองค์ได้ย้ายเมืองใหม่ไปตั้งเป็นเมืองสุวรรณภูมิในบริเวณใกล้เคียงกันกับเมืองท่งเดิม แล้วประกาศตัวเป็นเอกราชไม่ขึ้นกับเมืองใดทั้งสิ้น จนกระทั่งถูกพระยาตากสินเจ้าเมืองธนบุรีบังคับให้สวามิภักดิ์ เมืองสุวรรณภูมิจึงกลายเป็นเมืองประเทศราชและถูกลดฐานะเป็นหัวเมืองชั้นเอกในสมัยรัตนโกสินทร์ ทายาทของพระองค์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองและกรมการเมืองจำนวนมาก หลายหัวเมืองที่ทายาทของพระองค์ทรงปกครองได้กลายเป็นจังหวัด อำเภอ และตำบลในภาคอีสานของประเทศไทย เมืองต่างๆ เหล่านี้ ได้แก่ เมืองสุวรรณภูมิราชบุรีประเทษราช (เมืองสุวรรณภูมิ) เมืองร้อยเอ็ด เมืองชลบถวิบูลย์ (เมืองชลบถ) เมืองขอนแก่น เมืองเพี้ย เมืองรัตนนคร เมืองมหาสารคาม เมืองศรีสระเกษ เมืองโกสุมพิสัย เมืองกันทรวิชัย (เมืองโคกพระ) เมืองวาปีปทุม เมืองหนองหาร เมืองโพนพิสัย เมืองพุทไธสงค์ (เมืองผไทสมัน) เมืองบุรีรัมย์ (เมืองแปะ)[12] เมืองเกษตรวิสัย เมืองพนมไพรแดนมฤค (เมืองพนมไพร) เมืองธวัชบุรี เมืองพยัคฆภูมิพิสัย (เมืองเสือ) เมืองจตุรพักตรพิมาน (เมืองหงษ์)[13] เมืองขามเฒ่า เมืองเปือยใหญ่ (บ้านค้อ) เมืองนันทบุรี (เมืองน่าน) เมืองรัตนบุรี เมืองเดชอุดม เมืองราษีไศล เมืองรัตนวาปี เมืองสนม และ เมืองประชุมพนาลัย (เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว) ภายหลังได้มีการยุบเมือง เป็น จังหวัด อำเภอ และตำบล ยังคงมีทายาทสายเจ้าจารย์แก้วซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพ่อเมืองอยู่บางท่าน เช่น อำเภอภูเวียง (หลวงภูมิพิริยการ (สำอาง ประจันตเสน) บุตรหลานเจ้าเมืองชลบทวิบูลย์ได้เป็นนายอำเภอภูเวียงคนที่ 2) เป็นต้น

ผังสายพระโลหิต เจ้าแก้วมงคล ปฐมวงษ์เจ้าเมืองศรีภูมิ
ผังสายทายาท ของเจ้าแก้วมงคล ปฐมวงษ์เจ้าเมืองศรีภูมิ (สุวรรณภูมิ)
แผนผังบรรพบุรุษและสายทายาท ของเจ้าแก้วมงคล ปฐมวงษ์เจ้าเมืองศรีภูมิ

พระราชประวัติในเอกสารประวัติศาสตร์

[แก้]

ในพงศาวดารภาคอีสานของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ)

[แก้]

ในพงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ) พิมพ์ในงานปลงศพนางศรีสุภา (โต เอี่ยมศิริ) ณเชิงบรมบรรพต วัดสระเกส เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๓๒ กล่าวว่า

...ครั้นครบพรรษาหนึ่ง พระเจ้าเวียงจันทน์ จึงพร้อมพระครูทั้งหลายฮดภิกษุบวชใหม่ให้นามว่า พระครูโพนเสม็ดบ้าง บางคนก็เรียกว่าพระครูสีดาตามนามเดิม ท่านพระครูรักษาศีลบริสุทธิ์ ไม่ช้านานเท่าใด ก็ได้อภิญญา ๕ อัฐฐสมาบัติ ๘ ประการ สำเร็จไปด้วยฌาน จะว่าสิ่งใดก็แม่นยำโดยบารมีธรรม โปรดสำเร็จดังมโนนึกความปรารถนา น้ำมูตรและอาจมก็หอม พระเจ้าเวียงจันทน์จัดให้มีโยมอุปฐากรักษา ท่านพระครูเอานายแก้ว นายหวดมาเลี้ยงไว้ นายแก้ว นายหวด เรียนศิลปวิชชาความรู้มากฉลาดเฉลียว ครั้นอายุครบ ๒๑ ปี ก็บวชเป็นภิกษุให้ทั้ง ๒ คน ครั้นอยู่มาพระเจ้าเวียงจันทน์ มีโอรสองค์หนึ่ง เรียกว่าเจ้าองค์หล่อ อายุได้ ๓ ปี พระมเหสีมีครรภ์อยู่อีกได้ ๖ เดือน จุลศักราช ๑๐๕๑ ปี พระเจ้าเวียงจันทน์ถึงแก่พิราลัย พระยาเมืองแสนชิงเอาราชสมบัติได้ เจ้าองค์หล่อกับบ่าวไพร่ที่สนิทหนีเข้าไปพึ่งญวน ก็ได้เป็นใหญ่อยู่เมืองญวน แต่มเหสีนั้นเมื่อพระยาเมืองแสนจะรับไปอยู่ด้วย นางไม่ยอม จึงหนีเข้าไปพึ่งอยู่กับพระครูโพนเสม็ดๆ กลัวความนินทา จึงส่งนางไปไว้บ้านซ่อง่อหอคำ ครั้นคำรบ ๑๐ เดือน นางประสูติพระโอรสออกมาเป็นชาย มารดาญาติพี่น้องถวายนามว่า เจ้าหน่อกษัตริย์ ท่านพระยาเมือแสน จึงดำริว่า พระครูมีบุญมาก คนนิยมนับถือกลัวจะชิงเอาราชสมบัติ จึงคิดเป็นความลับจะทำอันตรายแก่ท่านพระครูๆ ก็ล่วงรู้ในความคิดพระยาเมืองแสน ท่านจึงว่ามีมารมาประจญแล้ว จะอยู่มิได้ ต้องหลีกหนีให้พ้นมาร ท่านพระครูจึงใช้ให้คนไปรับเอามารดากับเจ้าหน่อกษัตริย์มาแต่ซ่อง่อหอคำ แล้วจึงปฤกษากับญาติโยมคนอุปฐากพร้อมกันแล้ว รวมได้ชายหญิงใหญ่น้อย ๓๓๓๓ คน พาภิกษุแก้ว ภิกษุหวด อุปยกจากเวียงจันทน์ มาถึงงิ้วพลานลำสมสนุก...

...ท่านพระครูกลัวญาติโยมจะได้ความเดือดร้อน จึงพาครอบครัวหนีขึ้นมาตามลำแม่น้ำโขง แล้วก็เดิรเลยต่อๆ ถึงนครกาลจำบากนาคบุรีศรี ขณะนั้นนางเพาแม่นางแพงบุตร กับพระยาคำยาด พระยาสองฮาด ไปนิมนต์พระครูให้อยู่รักษาพระศาสนาให้รุ่งเรืองถาวร อนุญาตทั้งพุทธจักร์อาณาจักร์ให้แก่ท่านพระครูปกครองรักษา ต่อๆ มาประชาชนพลเมืองมีน้ำใจวิหิงสาบังเบียดแลลักทรัพย์สิ่งของ ช้าง ม้า โค กระบือ เนืองๆ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ครั้นท่านพระครูจะจับตัวมาลงโทษจำขังเฆี่ยนตี ก็จะผิดบาลีสิกขาบท มีความมัวหมองแก่ท่านพระครูต่อไป ท่านพระครูจึงพร้อมกันปรึกษาเสนากรมการ เห็นว่าเจ้าหน่อกษัตริย์สมควรจะครอบครองบ้านเมืองได้ จึงแต่งให้จารแก้ว ท้าวเพี้ยไพร่พลขึ้นไปอัญเชิญรับเอาเจ้าหน่อกษัตริย์กับพระมารดาลงมาถึงนครกาลจำบากนาคบุรีศรี ในจุลศักราช ๑๐๗๕ ปีมะเส็งเบ็ญจศก อัญเชิญขึ้นครองเมือง ถวายพระนามว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธกุล เป็นเจ้าเอกราช ครองราชสมบัติณกรุงกาลจำบากนาคบุรีศรี ตามราชประเพณีกษัตริย์มาลาประเทศแต่กาลปางก่อน จึงผลัดนามเมืองใหม่ว่านครจำปาศักดิ์นาคบุรีศรี ท่านพระครูและเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯ จัดแจงตั้งแต่งบ้านเมือง คือให้ตั้งบ้านโขงเป็นเมืองโขง จารหวดเป็นเจ้าเมือง ยกบ้านหางโขงขึ้นเป็นเมืองเชียงแตง ให้พ่อเชียงแปลงเป็นเจ้าเมือง แล้วจัดให้จารเสียงสางไปเป็นเจ้าเมืองศรีคอนเตา เรียกว่าเจ้าเมืองรัตนบุรี ให้จารแก้วเป็นเจ้าเมืองทุ่ง เรียกว่าเมืองสุวรรณภูมิบัดนี้ ปันอาณาเขตต์ให้ปกครองรักษาฝ่ายเหนือ ตั้งแต่ยางสามต้น อ้นสามขวย หลักทอดยอดยัง ข้างตะวันออกถึงเขาประทัด ต่อแดนกับอ้ายญวน ข้างตะวันตกถึงลำน้ำพังชู ทิศใต้ถึงห้วยลำคันยุงเป็นแดน จารแก้วออกจากนครจำปาศักดิ์มาตั้งเมืองในระหว่างจุลศักราช ๑๐๘๐ ปี มีไพร่พลชายหญิงใหญ่น้อยประมาณ ๓๐๐๐ คนเศษ จารแก้วเจ้าเมืองทุ่ง มีบุตรชาย ๓ คน คนที่ ๑ ชื่อท้าวมืด คนที่ ๒ ชื่อท้าวทน คนที่ ๓ ชื่อท้าวเพ จารแก้วครองเมืองทุ่งได้ ๑๖ ปี ระหว่างจุลศักราช ๑๐๙๖ ปี จารแก้วถึงแก่กรรม ท้าวมืดผู้พี่ได้ครองเมืองแทนบิดา ท้าวทนเป็นอุปฮาด ตั้งแข็งเมืองเป็นเอกราช ไม่ได้ขึ้นแก่นครจำปาศักดิ์ เพราะเหตุว่านครจำปาศักดิ์พี่กับน้องเกิดวิวาทยาดชิงสมบัติแก่กัน จึงหาได้ติดตามมาว่ากล่าวเอาส่วยสาอากรไม่...[14]

ในพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ของพระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ)

[แก้]

ในพงศาวดารนครจำปาศักดิ์หรือตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ พระยามหาอำมาตยาธิบดี จากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ กล่าวว่า

...ในศักราช ๑๐๗๑ ปีฉลูเอกศก แล้วพระครูโพนเสม็ดจึงชักชวนชาวเมืองหล่อพระพุทธปฏิมากรองค์หนึ่ง หน้าตักสิบเก้านิ้วสำเร็จบริบูรณ์ ก็อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรประดิษฐานไว้ที่พระวิหารวัดบางซ้ายอยู่มาจนเท่าทุกวันนี้ ครั้นนานมาประชาชนทั้งหลายก็เกิดเป็นโจรผู้ร้ายฉกลักเครื่องอัญญมณีของสมณะและทรัพย์สิ่งของอาณาประชาราษฎรทั้งปวง แล้วก็เกิดฆ่าฟันกันขึ้นหลายแห่งหลายตำบล พระครูโพนเสม็ดจะชำระว่ากล่าวตามอาญาก็กลัวจะผิดด้วยวินัยสิกขาบท ครั้นจะนิ่งเสียไม่ปราบปรามให้ราบคาบ สมณพราหมณาจารย์ราษฎรก็จะได้ความเดือดร้อนยิ่งขึ้นไป พระครูโพนเสม็ดจึงเห็นว่าเจ้าหน่อกษัตริย์ซึ่งเป็นโอรสพระเจ้าเวียงจันทน์ จะปกครองประชาราษฎรต่อไปได้ พระครูโพนเสม็ดจึงให้จารียแก้วจารียเสียงช้างกับท้าวเพี้ยไพร่พลไปอัญเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์ ซึ่งตั้งอยู่บ้านงิ้วพันลำโสมสนุกลงมาเมืองนครกาลจำปากนาคบุรีศรี.........แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรจึงจัดตั้งบ้านอำเภอโขงขึ้นเป็นเมืองโขง ให้จารียฮวดเป็นเจ้าเมืองรักษาอาณาเขตต์ที่ตำบลนั้น ให้จารียเสียงช้างขึ้นไปเป็นเจ้าเมืองศรีคอรเตา ให้จารียแก้วเป็นเจ้าเมืองท่งรักษาเขตต์แดนฝ่ายเหนือ ตั้งแต่ยางสามต้นอ้นสามข้อยหลักทอดยอดยางตะวันออกเขาประทัดต่อแดนกับญวณตะวันตกลำน้ำกระยุงเป็นแดน แล้วก็ยกให้นายมั่นข้าหลวงเดิมเป็นคนใช้สอยสนิทไปเป็นหลวงเอกรักษาอำเภอบ้านโพนเรียกว่าเมืองมั่น ให้นายพรมไปเป็นซาบุตตโคตรักษาอำเภอบ้านแก้งอาเฮิม มีพระเจดีย์อยู่ในตำบลนั้นองค์หนึ่งเรียกว่าธาตุกระเดาทึก จึงให้เป็นเมืองคำทองหลวง ให้จารียโสมไปเป็นใหญ่รักษาอำเภอบ้านอิดกระบือ แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรจึงมีราชสาส์นให้ท้าวพระยาถือไปยังกรุงกำพุชาธิบดีขอยืมฉะบับพระไตรปิฎก พระเจ้ากำพุชาธิบดีก็ให้พระราชาคณะสงฆ์ผู้ใหญ่จัดพระไตรปิฎกให้แก่ท้าวพระยาคุมขึ้นไปเมืองนครกาลจำปาศักดิ์ เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรก็ให้จำลองออกแล้วให้พระเถรานุเถระที่รู้อรรถธรรมบอกแก่พระสงฆ์สามเณรให้เล่าเรียนศึกษาในคันธธุระวิปัสสนาธุระ ตั้งแต่นั้นมาเจ้านายท้าวพระยาสมณพราหมณาจารย์ประชาราษฎรก็อยู่เย็นเป็นสุข...[15]

ในพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร)

[แก้]

ในพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) เรียบเรียง ภาคที่ ๑ คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก, ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔) พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ กล่าวว่า

...เจ้าสร้อยศรีสมุท มีโอรส ๓ องค์ คือ เจ้าไชยกุมาร ๑ เจ้าธรรมเทโว ๑ เจ้าสุริโย ๑ แล้วมีราชสาสนแต่งให้แสนท้าวพระยา นำเครื่องบรรณาการไปขอธิดาเจ้าเขมรณเมืองบรรทายเพ็ชร์มาเปนบาทบริจา มีโอรสอิกองค์หนึ่ง ให้นามว่าเจ้าโพธิสาร แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทจึ่งให้จารหวดเปนอำเภอรักษาบ้านดอนโขงในลำน้ำโขง (ฤๅของ).........ให้ท้าวสุดเปนพระไชยเชฐรักษาอำเภอบ้านหางโคปากน้ำเซกองฝั่งโขงตวันออก (คือเมืองเชียงแตงเดี๋ยวนี้) ให้จารแก้วเปนอำเภอ รักษาบ้านทง ภายหลังเรียกบ้านเมืองทง (คือเมืองสุวรรณภูมิ์เดี๋ยวนี้) ให้จันทสุริยวงษ์เปนอำเภอรักษาบ้านโพนสิม เมืองตะโปน เมืองพิน เมืองนอง ให้นายมั่นข้าหลวงเดิมของนางแพงเปนหลวงเอกรักษา อำเภอบ้านโพน ภายหลังเรียกว่าเมืองมั่นตามชื่อนายมั่น (คือเมืองสาลวันเดี๋ยวนี้).........ในอำเภอซึ่งเจ้าสร้อยศรีสมุทได้ตั้งแต่งให้มีผู้ไปรักษาปกครองอยู่ดังกล่าว มาแล้วนี้นั้น ดูเหมือนจะให้เปนอย่างเมืองออกกลายๆ ถ้าผู้ใหญ่ซึ่งรักษาในตำบลเหล่านั้นล่วงลับไปแล้ว ทางเมืองปาศักดิก็มักจะตั้งแต่งให้บุตรหลานของผู้ล่วงลับไปนั้น ปกครองเปนใหญ่ในตำบลนั้น ๆ สืบเชื้อวงษ์เนื่องกันต่อๆ มา แลตำบลเหล่านั้นก็มักจะปรากฏนามโดยประชุมชนสมมตเรียกกันว่าเมืองนั้นเมือง นี้ ดังเมืองมั่น (สาลวัน) เปนต้นมาแต่เดิม เพราะฉนั้นจะถือว่าตำบลเหล่านั้นได้สมญาตั้งขึ้นเปนเมืองมาแต่เวลานั้นก็จะได้ เพราะเมืองกาละจำบากนาคบุรีศรีในสมัยนั้น ก็เปนเอกราชโดยความอิศรภาพอยู่ส่วนหนึ่ง สมควรที่จะมีเมืองขึ้นเมืองออกได้อยู่แล้ว แต่หากยังมิได้ตั้งแต่งตำแหน่งกรมการรองๆ ขึ้นให้เปนระเบียบดังเมืองเดี๋ยวนี้เท่านั้น แลทั้งอาไศรยความที่มิได้มีปรากฏว่า ในตำบลเหล่านั้นได้เปนอิศรภาพแห่งตน ฤๅตกอยู่ในอำนาจความปกครองของประเทศใดนอกจากอยู่ในอำนาจของเมืองนครจำบากด้วย แลกำหนดเขตรแขวงเมืองนครจำปาศักดิในเวลานั้นมีว่าทิศเหนือตั้งแต่ยางสามต้น อ้นสามขวาย หลักทอดยอดยาง ทิศตวันออกถึงแนวภูเขาบันทัดต่อแดนญวน ทิศใต้เวลานั้นยังไม่ปรากฏ ทิศตวันตกต่อเขตรแขวงเมืองพิมายฟากลำน้ำกยุง บ้านเมืองก็อยู่เย็นเปนศุขเรียบร้อยมา.........จุลศักราช ๑๐๘๗ ปีมเสงสัปตศก จารแก้วอำเภอบ้านเมืองทงป่วยถึงแก่กรรม อายุได้ ๘๔ ปี มีบุตรชาย ๒ คน ชื่อท้าวมืด ๑ (คลอดเมื่อวันสุริยอุปราคา) ชื่อท้าวทนหนึ่ง เจ้าสร้อยศรีสมุทจึ่งตั้งให้ท้าวมืดบุตรเปนตำแหน่งเจ้าเมือง ให้ท้าวทนเปนอุปฮาด ปกครองรักษาบ้านเมืองทงต่อไป ท้าวมืดได้ตั้งแต่งตำแหน่งเมืองแสน เมืองจัน แลกรมการขึ้น ณ ครั้งนั้น ฝ่ายข้างเมืองปาศักดิ เจ้าสร้อยศรีสมุทป่วยลง จึ่งให้เจ้าไชยกุมารว่าราชการเมืองแทนแล้วก็ออกจำศีลอยู่...[16]

ปัญหาเกี่ยวกับพระราชประวัติ

[แก้]

ในพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ) ไม่ได้กล่าวว่าพระราชบิดาของเจ้าแก้วมงคลคือเจ้านายเวียงจันทน์พระองค์ใด หากเเต่มีการระบุพยานอย่างชัดเจนที่สนับสนุนว่าเจ้าเเก้วมงคลสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์เวียงจันทน์ ในพงสาวดาร ฉบับเหลา ณ ร้อยเอ็ด หรือหลักฐานชั้นต้นระบุว่า พระยาพรหม พระยากรมท่า พร้อมด้วยเจ้าราชวงศ์เเห่งเวียงจันทน์ เจ้าธรรมสุนทร เจ้าหมื่นน้อยเมืองจำปาศักดิ์ ซึ่งล้วนเเต่เป็นเจ้านายเเละลูกหลานของกษัตริย์ล้านช้าง ซึ่งเข้าใจได้ว่าเป็นพระญาติกันกับเจ้าเมืองสุวรรณภูมิเเละร้อยเอ็ด ซึ่งพวกท่านเหล่านี้เป็นผู้ช่วยจัดการความวุ่นวายปัญหาระหว่างเจ้าเซียงเเละเจ้าทนต์ (หลานกับอา) ซึ่งเป็นหลานเเละบุตรของเจ้าเเก้วมงคลตามลำดับ นอกจากนี้ยังช่วยจัดเเจงบ้านเมืองสุวรรณภูมิเเละร้อยเอ็ดเเละเป็นพยานปากในการระบุตัวตนเเละความเป็นมาของเจ้าเมืองสุวรรณภูมิเเละเจ้าเมืองร้อยเอ็ดให้เเก่กษัตริย์กรุงธนบุรี อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการสนับสนุนในการเเต่งตั้งพระนามให้เเก่เจ้าเมืองสุวรรณภูมิเเละเจ้าเมืองร้อยเอ็ด โดยเจ้าเซียงหรือเจ้าเมืองสุวรรณภูมิได้รับพระราชทานพระนามว่า พระรัตนวงษา อันหมายถึงผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าเเก้วมงคล เเละเจ้าทนต์หรือเจ้าเมืองร้อยเอ็ด ได้รับพระราชทานพระนามว่า พระขัติยวงษา อันหมายถึง ผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ ซึ่งเข้าใจได้ว่าสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ล้านช้างเวียงจันทน์ ทั้งนี้ตามจารีตโบราณพระนามของเจ้าเมืองสามารถใช้เป็นสัญลักษณ์เเละช่วยอธิบายความเป็นมาของเจ้าเมืองซึ่งเป็นการได้รับเกียรติอย่างสูงสุดจากพระมหากษัตริย์ที่เจ้าเมืองนั้นได้ไปขึ้นตรงด้วย เช่นเดียวกับกรณีที่ให้นาม ว่า ปทุม หรือดอกบัว ให้เเก่เจ้าเมืองซึ่งเป็นลูกหลานของพระวอพระตาบางท่าน เพื่ออธิบายว่าพวกท่านมีที่มามาจากเมืองหนองบัวลำภูหรือนครเขื่อนขันธ์ุกาบเเก้วบัวบาน เป็นต้น ในตำนานเมืองมุกดาหารกล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นพี่น้องร่วมพระบิดากับเจ้าจารย์จันทรสุริยวงศ์ เจ้าเมืองหลวงโพนสิม (ต้นสกุลพระราชทาน จันทรสาขา) ส่วนพื้นเมืองท่งกล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นพี่น้องฝาแฝดกับเจ้าจารย์หวด เจ้าเมืองโขง และทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของกษัตริย์เวียงจันทน์พระองค์ก่อน ซึ่งสันนิษฐานว่า อาจหมายถึงสมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๘๑-๒๒๓๘)

ในตำนานเมืองขอนแก่นกล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นพระโอรสในเจ้าแสนปัจจุทุม (ท้าวแสนแก้วบุฮม) บ้านเพี้ยปู่ เมืองธุรคมหงส์สถิต (เมืองทุละคม) ในเขตนครเวียงจันทน์ และยังเป็นพี่น้องกับเพียเมืองแพนหรือพระนครศรีบริรักษ์บรมราชภักดี (พัน เสนอพระ) เจ้าเมืองขอนแก่นพระองค์แรกและเจ้าเมืองเพี้ยพระองค์แรก อีกทั้งยังมีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๓ หรือสมเด็จพระเจ้าสิริบุญสาร (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๙๔-๒๓๒๒) พระมหากษัตริย์แห่งนครเวียงจันทน์อีกด้วย [17] ซึ่งในประเด็นนี้พบข้อบกพร่องในเรื่องปี พ.ศ. ที่ไม่สอดคล้องกัน กล่าวคือ เจ้าแก้วมงคลประสูติ ณ ปี พ.ศ. ๒๑๘๔ ส่วนพระนครศรีบริรักษ์เป็นเจ้าเมืองขอนแก่นในปี พ.ศ. ๒๓๔๐ ระยะเวลาห่างกันถึง ๑๕๖ ปี หากทั้งสองพระองค์เป็นพี่น้องกัน นับว่าพระนครศรีบริรักษ์มีอายุเกือบ ๑๐๐ ปี ในช่วงครองเมืองขอนแก่น และหากเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระเจ้าสิริบุญสารซึ่งครองราชย์จนถึงปี พ.ศ. ๒๓๒๒ แต่เจ้าแก้วมงคลกลับครองเมืองท่งศรีภูมิจนถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. ๒๒๖๘ ซึ่งพระราชนัดดาจะพิราลัยก่อนพระราชอัยกาหรือพระเจ้าสิริบุญสารถึง ๕๘ ปี ไม่ได้ ประเด็นนี้จึงเป็นข้อขัดแย้งกัน

การเกี่ยวดองเเละความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์เจ้าจารย์เเก้วกับราชวงศ์หรือตระกูลต่างๆ

[แก้]

ตระกูลเจ้าเมืองขุขันธ์

[แก้]

ตระกูลเจ้าเมืองสุรินทร์

[แก้]

ตระกูลเจ้าเมืองภูเวียง

[แก้]

ตระกูลเจ้าเมืองกาฬสินธุ์

[แก้]
  • สายเจ้าเมืองร้อยเอ็ดเเละเมืองสุวรรณภูมิ มีการเกี่ยวดอง กับ พระยาชัยสุนทร (หมาแพง) เจ้าเมืองกาฬสินธ์ุท่านที่ 2 (รายนามของลูกหลานที่เกี่ยวดองด้วยข้อมูลยังไม่ระบุชัดเเจ้งว่าเป็นใคร)

ตระกูลเจ้าเมืองกมลาไสย

[แก้]
  • พระยาขัติยะวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็ด) ผู้ว่าราชการเมืองร้อยเอ็ดท่านสุดท้าย เป็นบุตรเขยของพระราษฎรบริหาร (ทอง) เจ้าเมืองกมลาไสยท่านที่ 2 โดยการสมรสกับนางเหลี่ยม ธิดาของเจ้าเมืองกมลาไสย

สายสกุลของทายาทบุตรหลาน

[แก้]

ทายาทบุตรหลานของเจ้าแก้วมงคลนั้นได้เป็นกลุ่มราชตระกูลใหญ่กลุ่มหนึ่งในภาคอีสานเช่นเดียวกับกลุ่มเจ้าพระวอและเจ้าพระตา ทายาทของพระองค์แยกย้ายกันออกไปสร้างบ้านแปงเมืองหลายแห่ง[20] ดังนั้น พระองค์จึงได้รับยกย่องว่าทรงเป็นปฐมต้นราชตระกูลของภาคอีสานหลายสายสกุล ได้แก่

  • แก้วมงคล
  • ธนสีลังกูร (พระราชทาน)
  • ณ ร้อยเอ็จ (พระราชทาน)
  • ขัติยวงศ์
  • ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม (พระราชทาน)
  • สุวรรณเลิศ
  • เรืองสุวรรณ
  • เจริญศิริ
  • อัตถากร
  • รักษิกกะจันทน์ หรือ รักษิกจันทร์ (พระราชทาน)
  • รัตนะวงศะวัต (พระราชทาน)
  • รัตนวงศา
  • ประจันตะเสน (พระราชทาน)
  • เสนอพระ
  • นครศรีบริรักษ์
  • อุปฮาด
  • สุนทรพิทักษ์
  • สุนทรพิพิธ[21]
  • สุวรรณธาดา (พระราชทาน)
  • สิงหศิริ (พระราชทาน)
  • สิงคศิริ
  • สิงคสิริ
  • สิมะสิงห์
  • สิริสิงห์
  • สิระสิงห์
  • สังขศิลา[22]
  • พิสัยพันธ์
  • พงษ์สุวรรณ
  • ไชยสุกา
  • เรืองสนาม
  • วลัยศรี
  • แสงสุระ
  • รักษาเมือง
  • พิทักษ์เขื่อนขันธุ์
  • หนองหานพิทักษ์
  • วรฉัตร
  • พระวงศ์รัตน์
  • วงศ์ ณ รัตน์[23]
  • สุวรรณวิเศษ[24]
  • จันทรศร (พระราชทาน)[25]
  • อินตะนัย[26]
  • รัตนเวฬุ
  • อัคฮาด
  • อรรคฮาด
  • วงศ์วรบุตร
  • พึ่งมี
  • วรแสน
  • สิงห์ธวัช
  • เเพนพา
  • เศรษฐภูมิรินทร์
  • ธรรมเสนา

นอกจากนี้ยังมี หม่อมเจ้าชมิยบุตร ชุมพล พระโอรสในพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์กับหม่อมคำเมียง ชุมพล ณ อยุธยา ซึ่งหม่อมคำเมียงมีศักดิ์เป็นหลานของ พระยาวิเศษภักดี (ท้าวโท) เจ้าเมืองศีร์สะเกษท่านสุดท้าย ทายาท พระยารัตนวงษา (อุ่น) พระนัดดา เจ้าแก้วมงคล[27]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ประวัติอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
  2. คัมภีร์ใบลานเรื่อง พงสาวดารเมือง (บั้งจุ้มหรือตำนานเมือง) ฉบับวัดโพนกอก บ้านปากกะยุง เมืองทุละคม นครเวียงจัน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อักษรธรรมลาว มี ๓๕ หน้าลาน
  3. 19120.หลวงพ่อพระลับ วัดธาตุ จ.ขอนแก่น
  4. ประวัติ เจ้าเมืองท่ง
  5. ประวัติความเป็นมาวัดจำปานคร(วัดบ้านดงไหม่ )
  6. คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, เรื่องทรงตั้งเจ้าประเทศราชกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ (กรุงเทพฯ : สำนักธรรมเนียบนายกรัฐมนตรี, ๒๕๑๔).
  7. กะซวงถะแหลงข่าวและวัดทะนะทำ เวียงจันง, พะยาฟ้างุ่มแหล่งหล้าทอละนี ผู้นำพาสะถาปะนาอานาจักล้านซ้างเอกะพาบ คบฮอบ ๖๕๐ ปี (เวียงจัน : โฮงพิมแห่งรัด, ๒๐๐๒).
  8. พระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ), พงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ) (กรุงเทพฯ : ศรีหงส์, ๒๔๓๒) น. ๘
  9. "ประวัติเมืองร้อยเอ็ด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-20. สืบค้นเมื่อ 2017-06-06.
  10. ประวัติความเป็นมาของบ้านเมืองหงส์ โดยสังเขป เรียบเรียงข้อมูลโดย พระสมนึก ภูริปัญโญ
  11. ประวัติความเป็นมาเมืองทุ่งศรี[ลิงก์เสีย]
  12. "ประวัติของจังหวัดบุรีรัมย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-10. สืบค้นเมื่อ 2017-06-06.
  13. ปฐมพงศ์ ลิ้มเจริญ. หมอธรรม : ประวัติศาสตร์ ความเชื่อ และเครือข่ายทางสังคมในภาคอีสาน. ดุษฎีนิพนธ์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา. ๒๕๕๘ น. ๒๑-๒๖
  14. พระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ), พงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ) (กรุงเทพฯ : ศรีหงส์, ๒๔๓๒) น. ๓-๕, ๖-๘
  15. พงศาวดารนครจำปาศักดิ์ของพระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ)[ลิงก์เสีย]
  16. พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร)[ลิงก์เสีย]
  17. ประวัติความเป็นมาของจังหวัดขอนแก่น
  18. พงศาวดารเมืองน่าน (เชียงใหม่ : ธนุชพริ้นติ้ง (โรงพิมพ์ดาว), ๒๕๔๓) น. ๖๒
  19. พระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ), พงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ) (กรุงเทพฯ : ศรีหงส์, ๒๔๓๒) น. ๘-๙
  20. สายสกุลของทายาทบุตรหลานเจ้าแก้วมงคล
  21. ประวัติความเป็นมาเจ้าแก้ว[ลิงก์เสีย]
  22. ประวัติย่อเจ้าแก้ว
  23. "ชาวสุวรรณภูมิเฮ! "ผุดแลนด์มาร์คแห่งใหม่ อนุสาวรีย์เจ้าแก้วมงคลและอุทยานประวัติศาสตร์เมืองท่งศรีภูมิ"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-23. สืบค้นเมื่อ 2018-04-18.
  24. ลูกหลานเจ้านาย เจ้าเมืองศรีสะเกษ
  25. ลูกหลานเจ้านาย เจ้าเมืองศรีสะเกษ
  26. ลูกหลานเจ้านาย เจ้าเมืองศรีสะเกษ
  27. ลูกหลานเจ้านาย เจ้าเมืองศรีสะเกษ