พรรคก้าวไกล
พรรคก้าวไกล (อังกฤษ: Move Forward Party ย่อ: ก.ก.) เป็นอดีตพรรคการเมืองไทยที่จดทะเบียนก่อตั้งพรรคเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยใช้ชื่อว่า พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย มีการเปลี่ยนชื่อเป็น พรรคผึ้งหลวง ใน พ.ศ. 2562 และเปลี่ยนมาใช้ชื่อ พรรคก้าวไกล ใน พ.ศ. 2563 ภายหลังจากที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบและสมาชิกส่วนใหญ่ย้ายมาสังกัดพรรคก้าวไกล
พรรคก้าวไกล | |
---|---|
หัวหน้า | ชัยธวัช ตุลาธน |
รองหัวหน้า | |
เลขาธิการ | อภิชาติ ศิริสุนทร |
รองเลขาธิการ | |
เหรัญญิก | ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ |
นายทะเบียนสมาชิก | ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล |
โฆษก | พริษฐ์ วัชรสินธุ |
รองโฆษก | |
กรรมการบริหาร | |
ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค | พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ |
ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค | |
ประธานคณะทำงานพิเศษป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศ | เบญจา แสงจันทร์ |
ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต | เดชรัต สุขกำเนิด |
ผู้อำนวยการพรรค | ศรายุทธิ์ ใจหลัก |
ผู้อำนวยการเลือกตั้งพรรค | กิตติชัย เตชะกุลวณิชย์ |
คำขวัญ | พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย ร่วมพัฒนา พาชาติพ้นวิกฤต พิชิตภัยคอร์รัปชั่น ยึดมั่นความเป็นไทย พรรคผึ้งหลวง พลิกประวัติศาสตร์ พลิกงบพัฒนา 90% สู่หมู่บ้าน/ชุมชน พรรคก้าวไกล การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต[1] |
คติพจน์ | ต้องก้าวไกล ให้ไทยก้าวหน้า ก้าวไกล ตรงไปตรงมา |
ก่อตั้ง | พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย (ครั้งที่ 1) 1 พฤษภาคม 2557 พรรคก้าวไกล 19 มกราคม 2563 |
ถูกยุบ | 7 สิงหาคม 2567[2] |
ก่อนหน้า | พรรคอนาคตใหม่ (โดยพฤตินัย) |
ถัดไป | พรรคประชาชน |
ที่ทำการ | 167 อาคารอนาคตใหม่ ชั้น 4 ซอยรามคำแหง 42 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร |
สถาบันนโยบาย | ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต[3] |
สมาชิกภาพ (ปี 2567) | 115,492 คน[4] |
อุดมการณ์ | |
จุดยืน | กลางซ้าย[15] |
กลุ่มในภูมิภาค | เครือข่ายประชาธิปไตยสังคมนิยมในเอเชีย (SocDem Asia)[16][17] |
สี | สีส้ม |
เพลง | ก้าวไกลก้าวหน้า (2563) ต้องก้าวไกล (2565) |
เว็บไซต์ | |
moveforwardparty | |
การเมืองไทย รายชื่อพรรคการเมือง การเลือกตั้ง |
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 พรรคก้าวไกลได้จำนวน ส.ส. มากที่สุด แม้หลังการเลือกตั้งพรรคก้าวไกลจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับอีก 7 พรรค แต่ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรค ไม่ได้รับคะแนนเสียงเพียงพอที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว พรรคจึงมอบสิทธิ์การจัดตั้งรัฐบาลให้พรรคเพื่อไทย นำไปสู่การจับขั้วตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งไม่มีพรรคก้าวไกล และพรรคต้องทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ตามมาด้วยการลาออกจากหัวหน้าพรรคของพิธาและชัยธวัช ตุลาธน ขึ้นดำรงตำแหน่งนี้แทน
จากความพยายามแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันเนื่องมาจากการประท้วงของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้มีการยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 วินิจฉัยว่าการกระทำนี้เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งให้พรรคหยุดการกระทำดังกล่าว
คณะกรรมการการเลือกตั้ง นำคำวินิจฉัยข้างต้นมาพิจารณาก่อนจะมีมติเอกฉันท์ส่งคำร้องพร้อมความคิดเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญซ้ำให้ยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากเข้าข่ายกระทำการล้มล้างการปกครอง ที่สุดในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาให้ยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิ์ทางการเมืองแกนนำพรรครวม 11 คนเป็นเวลา 10 ปี ขณะที่ ส.ส. ของพรรคที่ไม่ถูกตัดสิทธิ์จำนวน 143 คน ได้ย้ายไปสังกัดพรรคประชาชนในอีกสองวันต่อมา
ประวัติ
พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย
จดทะเบียนก่อตั้งพรรคเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ในชื่อว่า พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย มีศักดิ์ชาย พรหมโท และสมพร ศรีมหาพรหม เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคคนแรก โดยมีที่ทำการพรรคแห่งแรกอยู่ที่ 29/2 หมู่ 14 ตำบลหนองนาคำ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พร้อมกับคำขวัญพรรคว่า "ร่วมพัฒนา พาชาติพ้นวิกฤต พิชิตภัยคอร์รัปชั่น ยึดมั่นความเป็นไทย"[18]
ต่อมาในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ศักดิ์ชายได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค มีการแต่งตั้งสราวุฒิ สิงหกลางพล รองหัวหน้าพรรครักษาการในตำแหน่งหัวหน้าพรรค[19] ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ทางพรรคได้จัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ที่ประชุมมีมติเลือก ธนพล พลเยี่ยม และอังกูร ไผ่แก้ว เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคคนใหม่ พร้อมกับประกาศใช้ข้อบังคับพรรคฉบับใหม่แทนฉบับเดิมโดยได้ย้ายที่ทำการพรรคจากสถานที่เดิมมาอยู่ที่ 31/107 หมู่ 6 ซอยชินเขต 2 แยก 15 ถนนงามวงศ์วาน แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร และเปลี่ยนคำขวัญของพรรคเป็น "ร่วมพัฒนา นำประชาให้หลุดพ้น ทำค่าของคนให้เท่าเทียม"[20]
พรรคผึ้งหลวง
ต่อมาธนพลได้ลาออกจากตำแหน่ง[21] ทางพรรคร่วมพัฒนาชาติไทยจึงได้จัดการประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2562 ที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนชื่อพรรคเป็น พรรคผึ้งหลวง พร้อมกับประกาศใช้ข้อบังคับพรรคฉบับใหม่แทนฉบับเดิมโดยได้ย้ายที่ทำการพรรคจากที่เดิมไปอยู่ที่ 168/9 หมู่ 12 ตำบลนางั่ว อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ รวมถึงเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ของพรรคและเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แทนชุดเดิมจำนวน 10 คน ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือกก้องภพ วังสุนทร และนวิรุฬห์ ชลหาญ เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคคนใหม่ พร้อมกับเปลี่ยนคำขวัญพรรคใหม่เป็น "พลิกประวัติศาสตร์ พลิกงบพัฒนา 90% สู่หมู่บ้าน/ชุมชน"[22]
ใน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 พรรคผึ้งหลวงได้ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งด้วย แต่ได้คะแนนมหาชนรวมกันเพียง 12,576 คะแนนเท่านั้น[23]
ต่อมาในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 วิรุฬห์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคและเลขาธิการพรรค ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคเหลือทั้งสิ้น 9 คน[24] พรรคผึ้งหลวงจึงจัดประชุมใหญ่วิสามัญของพรรค ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ณ สำนักงานสาขาพรรคผึ้งหลวง จังหวัดขอนแก่น เพื่อเลือกเลขาธิการพรรคคนใหม่ ที่ประชุมมีมติเลือกเจษฎา พรหมดี ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคนใหม่[25]
พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย (ยุคที่ 2)
หลังจากนั้นในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2562 พรรคผึ้งหลวงได้จัดประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 3/2562 ที่ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรค และเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่[26] โดยก่อนการลงมติก้องภพซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคผึ้งหลวงได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแต่ยังคงเป็นสมาชิกพรรคอยู่ และที่ประชุมมีมติเลือกธนพล พลเยี่ยม และอังกูร ไผ่แก้ว ให้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคสมัยที่ 2 พร้อมกับเปลี่ยนแปลงชื่อพรรคกลับไปเป็น พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย อีกครั้ง และได้ย้ายที่ทำการพรรคกลับไปยังที่ทำการพรรคเดิมในสมัยที่ธนพลเป็นหัวหน้าพรรคสมัยที่ 1 โดยมีสถานที่ติดต่อชั่วคราวอยู่ที่ 757/14 หมู่บ้านมิตรภาพ ถนนอ่อนนุช 46 แขวงอ่อนนุช เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร[27][28]
พรรคก้าวไกล
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2563 พรรคร่วมพัฒนาชาติไทยได้จัดประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ 1/2563 เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรค ชื่อพรรค ตราสัญลักษณ์พรรค และเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่[29] โดยที่ประชุมมีมติเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น พรรคก้าวไกล และที่ประชุมพรรคมีมติเลือกราเชนธร์ ติยะวัชรพงศ์ และปีใหม่ รัฐวงษา เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคคนใหม่[30] แต่เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ราเชนธร์ได้เสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน ทำให้ปีใหม่ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคต้องรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าพรรค[31]
ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แถลงข่าวนำ ส.ส. ทั้ง 55 คนของอดีตพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเข้าสังกัดพรรคก้าวไกลอย่างเป็นทางการ โดยที่ประชุมได้เลือกให้พิธาเป็นรักษาการประธาน สส. และแต่งตั้งวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เป็นรักษาการโฆษกของกลุ่ม ต่อมาที่ประชุมพรรคมีมติเลือกพิธาเป็นหัวหน้าพรรค และเลือกชัยธวัช ตุลาธน อดีตรองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่[32][33] ต่อมาในวันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2565 พรรคก้าวไกลได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคขึ้นโดยได้มีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารพรรคบางส่วน พร้อมกับแต่งตั้ง พริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรค[34]
พิธากล่าวยืนยันว่า พรรคก้าวไกลจะสานต่ออุดมการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการ "ยึดมั่นประชาธิปไตย ต่อต้านการรัฐประหาร" และการ "ผลักดันนโยบายที่ก้าวหน้าต่อไป"[35] ปดิพัทธ์ สันติภาดา สส. พรรคก้าวไกล ได้กล่าวว่าพรรคก้าวไกลจะเน้นทำงานการเมืองในสภาและในระดับประเทศเป็นหลัก และการที่คณะก้าวหน้าทำงานในการเมืองท้องถิ่นนั้น "ไม่ได้เป็นเชิงยุทธศาสตร์ทางการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น ในทางกลับกันแล้วคณะของคุณธนาธร และอาจารย์ปิยบุตร ควรจะได้ทำงานในสภา แต่เมื่อไม่เป็นเช่นนั้น ก็ต้องทำงานการเมืองด้านอื่นแทน อย่างการส่งผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่น"[36]
19 มิถุนายน พ.ศ. 2566 พรรคมีมติแต่งตั้ง ภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อของพรรค และอดีตผู้สื่อข่าว Voice TV เป็นรองโฆษกพรรคคนล่าสุด[37]
15 กันยายน พ.ศ. 2566 พิธาซึ่งถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อเปิดโอกาสให้หัวหน้าพรรคคนใหม่ที่ปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร[38] โดยมีการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เมื่อวันที่ 23 กันยายน และที่ประชุมมีมติเลือกชัยธวัช ตุลาธน เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่[39] ส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นของอภิชาติ ศิริสุนทร และโฆษกพรรคเป็นของพริษฐ์ วัชรสินธุ นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อขับเคลื่อนภารกิจของพรรคนอกสภาเป็นหลัก โดยมีพิธาเป็นประธานที่ปรึกษา และมีที่ปรึกษาอีก 2 คน คือ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ทีมเศรษฐกิจของพรรค และ เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต ซึ่งชัยธวัชให้สัมภาษณ์ว่าการปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคนี้เป็นเพียงการปรับเปลี่ยนเป็นการชั่วคราว และพร้อมลงจากตำแหน่งทั้งคณะเมื่อพิธากลับมาปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง[40]
24 มกราคม พ.ศ. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ สส. ของพิธาไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ส่งผลให้พิธาได้กลับมาทำหน้าที่ สส. ตามปกติในทันที นอกจากนี้ พิธาได้แสดงความคิดเห็นว่า กรณีที่จะกลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้งหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการประชุมพรรคในเดือนเมษายนปีเดียวกัน[41]
บทบาททางการเมือง
พรรคก้าวไกลมีบทบาทในการเลือกตั้งครั้งแรก เริ่มจาก การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ เขต 5 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2563 โดยส่งผู้สมัครคนใหม่ แทนที่ผู้สมัครคนเดิมที่เคยลงในนามพรรคอนาคตใหม่[42] ทำให้เกิดความไม่พอใจจากผู้สมัครคนเดิม[43] แต่ก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง จากนั้นก็ส่งผู้สมัครลงในการเลือกตั้งซ่อมอีก 2 ครั้ง โดยมี การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร เขต 1 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2565 และ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2565 แต่ก็ไม่ได้รับเลือกตั้งเช่นเดียวกัน
ใน พ.ศ. 2565 นักการเมืองพรรคเพื่อไทยบางคนกล่าวหาพรรคก้าวไกลที่ไม่ใช้วิธีการไม่เข้าร่วมประชุมเช่นกันว่าต้องการสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อแบบ "หาร 500"[44][45] ขณะที่พิธายืนยันว่าพรรคสนับสนุน "สูตรหาร 100"[46]
ในสมัยของสภาชุดที่ 25 พรรคก้าวไกลได้เสนอและผลักดันร่างกฎหมายเข้าสู่สภาเป็นจำนวนมาก เช่น ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน[47] ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า[48] และร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม[49] นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลมีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ดูเพิ่ม)[50] นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชัน "ก้าวไกลทูเดย์" เพื่อรวบรวมกระแสทางโซเชียลมีเดียให้ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพรรคได้[51]
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับหนึ่ง โดยได้ที่นั่งในสภาจำนวน 151 ที่นั่ง แบบแบ่งเขต 112 ที่นั่ง แบบบัญชีรายชื่อ 39 ที่นั่ง ต่อมาในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 หรือภายหลังการชนะเลือกตั้ง 2 วัน พรรคก้าวไกลนำโดย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ รองเลขาธิการฝ่ายพัฒนาระบบข้อมูลและดิจิทัล ได้สร้างห้องดิสคอร์ดในชื่อ "ก้าว Geek"[52] เพื่อเป็นพื้นที่ในการระดมความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาประเทศในหลายประเด็น
24 กันยายน พ.ศ. 2566 พรรคก้าวไกลได้จัดงาน "ก้าวต่อไป ก้าวไกลทั้งแผ่นดิน" พริษฐ์ในฐานะโฆษกพรรค ได้นำเสนอการขับเคลื่อนนโยบายของพรรคในแต่ละด้านของ สส. ในพรรค โดยจะแบ่งการทำงานออกเป็น 15 ทีม เพื่อดูแลในงานด้านต่าง ๆ ที่เป็นประเด็นสำคัญในสังคม ตามความเชี่ยวชาญของ สส. แต่ละคนของพรรค[53] ดังนี้
- พัฒนาเศรษฐกิจ
- เกษตร-ประมง
- ที่ดิน
- แรงงาน-สวัสดิการ
- ท่องเที่ยว
- เศรษฐกิจสร้างสรรค์
- พัฒนาการเมือง
- ความหลากหลาย
- ทหาร-ตำรวจ
- กระจายอำนาจ-ราชการ
- สาธารณสุข
- การศึกษา
- คมนาคม
- สาธารณูปโภค
- สิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2566 กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เผยแพร่ข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้ที่แสดงเจตนาอุดหนุนภาษีให้กับพรรคการเมืองในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งพบว่าประชาชนแสดงเจตนาอุดหนุนภาษีให้กับพรรคก้าวไกลมากที่สุด คือจำนวน 83,733 คน รวมจำนวนเงิน 39,991,672.23 บาท[54] คิดเป็น 72% ของยอดภาษีทั้งหมดที่ประชาชนแสดงเจตนาอุดหนุนภาษีให้พรรคการเมือง และเป็นอันดับที่ 1 เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน[55]
พรรคก้าวไกลประกาศรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และสมาชิกสภาจังหวัด ซึ่งจะมีการเลือกตั้งต้นปี พ.ศ. 2568 โดยรอบแรกเปิดรับสมัคร 16 จังหวัด[56] ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การเมือง ที่ไม่ได้มุ่งแค่การเมืองระดับชาติผ่านการเลือกตั้งใหญ่เท่านั้น แต่ยังลงไปถึงการเมืองท้องถิ่นทุกระดับ นายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด, นายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และหากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเปิดให้มีการเลือกตั้งในจังหวัด ทางพรรคก็จะส่งผู้สมัครเช่นกัน[57]
บุคลากร
หัวหน้าพรรค
ลำดับที่ | รูปภาพ | ชื่อ | เริ่มดำรงตำแหน่ง | สิ้นสุดวาระ |
---|---|---|---|---|
พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย (ครั้งที่ 1) | ||||
1 | ศักดิ์ชาย พรหมโท | 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 | 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560 | |
- | สราวุฒิ สิงหกลางพล | 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560 | 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 | |
2 | ธนพล พลเยี่ยม | 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 | 19 มกราคม พ.ศ. 2562 | |
พรรคผึ้งหลวง | ||||
3 | ก้องภพ วังสุนทร | 19 มกราคม พ.ศ. 2562 | 7 ธันวาคม พ.ศ. 2562 | |
พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย (ครั้งที่ 2) | ||||
(2) | ธนพล พลเยี่ยม | 7 ธันวาคม พ.ศ. 2562 | 19 มกราคม พ.ศ. 2563 | |
พรรคก้าวไกล | ||||
4 | ราเชนธร์ ติยะวัชรพงศ์ | 19 มกราคม พ.ศ. 2563 | 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 | |
- | ปีใหม่ รัฐวงษา | 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 | 14 มีนาคม พ.ศ. 2563 | |
5 | พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ | 14 มีนาคม พ.ศ. 2563 | 23 กันยายน พ.ศ. 2566 | |
6 | ชัยธวัช ตุลาธน | 23 กันยายน พ.ศ. 2566 | 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567 |
เลขาธิการพรรค
ลำดับที่ | รูปภาพ | ชื่อ | เริ่มดำรงตำแหน่ง | สิ้นสุดวาระ |
---|---|---|---|---|
พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย (ครั้งที่ 1) | ||||
1 | สมพร ศรีมหาพรหม | 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 | 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560 | |
15 ธันวาคม พ.ศ. 2560 (รักษาการ) |
9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 | |||
2 | อังกูร ไผ่แก้ว | 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 | ? | |
พรรคผึ้งหลวง | ||||
3 | วิรุฬห์ ชลหาญ | 19 มกราคม พ.ศ. 2562 | 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 | |
- | นฤมล พานโคกสูง (รองเลขาธิการพรรค) |
8 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 (รักษาการ) |
7 ตุลาคม พ.ศ. 2562 | |
4 | เจษฎา พรหมดี | 7 ตุลาคม พ.ศ. 2562 | 7 ธันวาคม พ.ศ. 2562 | |
พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย (ครั้งที่ 2) | ||||
(2) | อังกูร ไผ่แก้ว | 7 ธันวาคม พ.ศ. 2562 | 19 มกราคม พ.ศ. 2563 | |
พรรคก้าวไกล | ||||
5 | ปีใหม่ รัฐวงษา | 19 มกราคม พ.ศ. 2563 | 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 | |
18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 (รักษาการ) |
14 มีนาคม พ.ศ. 2563 | |||
6 | ชัยธวัช ตุลาธน | 14 มีนาคม พ.ศ. 2563 | 23 กันยายน พ.ศ. 2566 | |
7 | อภิชาติ ศิริสุนทร | 23 กันยายน พ.ศ. 2566 | 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567 |
กรรมการบริหารพรรค
ชุดที่ 1 (พ.ศ. 2563–2566)
อันดับ | ชื่อ | ตำแหน่ง[58] | |
---|---|---|---|
หลัก | ฝ่าย | ||
1 | พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ | หัวหน้าพรรค | |
2 | ชัยธวัช ตุลาธน | เลขาธิการพรรค | |
3 | ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ | เหรัญญิกพรรค | |
4 | ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล | นายทะเบียนสมาชิกพรรค | |
5 | ปดิพัทธ์ สันติภาดา (ลาออก)[59] | กรรมการบริหารพรรค | สัดส่วนภาคเหนือ |
6 | สมชาย ฝั่งชลจิตร | สัดส่วนภาคใต้ | |
7 | อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล | สัดส่วนภาคกลาง | |
8 | อภิชาติ ศิริสุนทร | สัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ | |
9 | เบญจา แสงจันทร์ | สัดส่วนภาคตะวันออก | |
10 | สุเทพ อู่อ้น | สัดส่วนปีกแรงงาน |
ชุดที่ 2 (พ.ศ. 2566–2567)
ลำดับที่ | ชื่อ | ตำแหน่ง[60] | |
---|---|---|---|
หลัก | ฝ่าย | ||
1 | ชัยธวัช ตุลาธน | หัวหน้าพรรค | |
2 | อภิชาติ ศิริสุนทร | เลขาธิการพรรค | |
3 | ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ | เหรัญญิกพรรค | |
4 | ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล | นายทะเบียนสมาชิกพรรค | |
5 | สมชาย ฝั่งชลจิตร | กรรมการบริหารพรรค | สัดส่วนภาคใต้ |
6 | อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ | สัดส่วนภาคเหนือ | |
7 | เบญจา แสงจันทร์ | สัดส่วนภาคตะวันออก | |
8 | สุเทพ อู่อ้น | สัดส่วนปีกแรงงาน |
บุคลากรพรรคในตำแหน่งอื่น ๆ
ลำดับที่ | ชื่อ | ตำแหน่ง[60] | |
---|---|---|---|
หลัก | ฝ่าย | ||
1 | พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ | รองหัวหน้าพรรค | กิจการสภา |
2 | ณัฐวุฒิ บัวประทุม | กฎหมาย | |
3 | พลตำรวจตรี สุพิศาล ภักดีนฤนาถ | การเมืองและกิจการพิเศษ | |
4 | ศิริกัญญา ตันสกุล | นโยบาย | |
5 | สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ | รองเลขาธิการพรรค | ความร่วมมือระหว่างพรรคการเมือง |
6 | ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ | กิจการภายในและการเลือกตั้ง | |
7 | ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ | การพัฒนาระบบข้อมูล และดิจิทัล | |
8 | พริษฐ์ วัชรสินธุ | โฆษกพรรค | |
9 | กรุณพล เทียนสุวรรณ | รองโฆษกพรรค | |
10 | ภคมน หนุนอนันต์ |
คณะที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค
ลำดับที่ | ชื่อ | ตำแหน่ง |
---|---|---|
1 | พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ | ประธานที่ปรึกษา |
2 | วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร | ที่ปรึกษา |
3 | เดชรัต สุขกำเนิด |
การเลือกตั้ง
การเลือกตั้งทั่วไป
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 พรรคก้าวไกลได้ส่งผู้สมัครลงการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยผู้สมัครส่วนหนึ่งเป็นอดีตผู้สมัคร สส. ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ บางคนก็เป็นอดีตผู้สมัครนายกฯ อบจ. และบางส่วนก็มาจาก กลุ่มเส้นด้าย หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น พรรคก้าวไกลได้ที่นั่งในสภาจำนวน 151 ที่นั่ง แบบแบ่งเขต 112 ที่นั่ง แบบบัญชีรายชื่อ 39 ที่นั่ง [61] ส่งผลให้กลายเป็นพรรคอันดับ 1 เป็นแกนนำโดยมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในการจัดตั้งรัฐบาล และชัยธวัชได้ทำการเชื้อเชิญอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านในรัฐบาลปี พ.ศ. 2562 ซึ่งมีจำนวน 4 พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคไทยสร้างไทย และ พรรคเสรีรวมไทย[62] พร้อมด้วยพรรคขนาดเล็กอีก 3 พรรค ประกอบด้วย พรรคเป็นธรรม[63], พรรคพลังสังคมใหม่, และ พรรคเพื่อไทรวมพลัง ร่วมจัดตั้งรัฐบาล[64]
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 8 พรรคร่วมรัฐบาลดังกล่าวจัดการแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งทั้ง 8 พรรคมีมติสนับสนุนพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และบุคคลที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย, จัดตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ[65] และจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการจัดตั้งรัฐบาลด้วยวิธีนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย[66] โดยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 9 ปีของเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในเวลาที่ใกล้เคียงกับเวลารัฐประหาร[67] โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ยึดหลักการผลักดันนโยบายที่ไม่กระทบรูปแบบของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดไม่ได้ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งหมายถึง ไม่มีวาระการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่ในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้[68] ประกอบด้วยวาระร่วม 23 ข้อ และแนวทางปฏิบัติ 5 ข้อ ซึ่งบรรจุประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ, สมรสเท่าเทียม, การปฏิรูปกองทัพและตำรวจ, การเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ, การกระจายอำนาจ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นต้น[69]
ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ทว่าคะแนนมติไม่ถึงเกณฑ์ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้กำหนดไว้[70] จึงได้มีการขอให้ลงมติรอบใหม่เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม โดยสุทิน คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เสนอชื่อพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ถูกประท้วงว่าเป็นญัตติซ้ำ[71] และระหว่างการอภิปราย ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากกรณีถือหุ้นไอทีวี[72] ผลสุดท้าย การเสนอชื่อครั้งนี้ถูกรัฐสภาลงมติว่าเป็นญัตติซ้ำ ส่งผลให้ไม่สามารถเสนอชื่อพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกในสมัยประชุมเดียวกัน[73]
ดังนั้น ในวันที่ 21 กรกฎาคม พรรคก้าวไกล โดยเลขาธิการพรรค ชัยธวัช ตุลาธน จึงประกาศให้สิทธิ์การเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแก่พรรคเพื่อไทย เขายังระบุว่ามีองคาพยพของบางกลุ่มการเมืองไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ[74]
แต่ภายหลังจากที่เพื่อไทยยกเลิกข้อตกลงร่วมกันของ 8 พรรคร่วมเดิม และไปจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคที่ถูกกล่าวว่าเป็นขั้วรัฐบาลเดิม พร้อมกับมีพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติเข้าร่วมด้วย พรรคก้าวไกลจึงประกาศลงมติไม่เห็นชอบให้กับผู้ที่จะถูกเสนอชื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เพราะขัดกับเจตจำนงที่ประชาชนมอบให้ และขณะเดียวกันก็จะไม่เสนอชื่อพิธาลงแข่งในครั้งต่อไป โดยก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกลให้ สส. จัดผลสำรวจทั้งในสื่อสังคม และถามความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า พรรคก้าวไกลควรลงมติไม่เห็นชอบ[75] และเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลที่อยู่ในที่ประชุมร่วมของรัฐสภาทั้งหมด ซึ่งมีจำนวน 149 คน ได้ลงมติ "ไม่เห็นชอบ" ให้เศรษฐา ทวีสิน ผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[76]
หลังการประชุมดังกล่าวเสร็จสิ้น ชัยธวัชประกาศว่าพรรคพร้อมที่จะทำงานในฐานะฝ่ายค้าน[77] อย่างไรก็ตาม พิธาซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้นไม่สามารถทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน พิธาจึงประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อให้พรรคก้าวไกลดำเนินการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่มาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ เพื่อทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งจากการลาออกจากหัวหน้าพรรคของพิธาส่งผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดเดิมพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ โดยมีการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เมื่อวันที่ 23 กันยายน[38] อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 106 ระบุว่า ผู้นำฝ่ายค้านจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นหัวหน้าพรรคที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดในกลุ่มพรรคการเมืองที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล ยังคงดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 จึงส่งผลให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลไม่สามารถดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านได้[78] ในที่สุด เมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่ประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคก้าวไกล จึงมีมติให้ปดิพัทธ์ออกจากการเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล หรือคือการขับออกจากพรรค[79] (ปัจจุบันปดิพัทธ์ได้ย้ายเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคเป็นธรรมเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม)
ผลการเลือกตั้งทั่วไป
การเลือกตั้ง | จำนวนที่นั่ง | คะแนนเสียงทั้งหมด | สัดส่วนคะแนนเสียง | ที่นั่งเปลี่ยน | สถานภาพพรรค | ผู้นำเลือกตั้ง |
---|---|---|---|---|---|---|
พรรคผึ้งหลวง | ||||||
2562 | 0 / 500
|
12,576 | ไม่ได้รับเลือกตั้ง | ก้องภพ วังสุนทร | ||
พรรคก้าวไกล | ||||||
2566 | 151 / 500
|
14,438,851 | 36.54% | 151 | ฝ่ายค้าน | พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ |
เลือกตั้งซ่อม
เขตเลือกตั้ง | วันเลือกตั้ง | ผู้สมัครรับเลือกตั้ง | คะแนนเสียงทั้งหมด | สัดส่วนคะแนนเสียง | ผลการเลือกตั้ง |
---|---|---|---|---|---|
สมุทรปราการ เขต 5 | 9 สิงหาคม พ.ศ. 2563 | อิศราวุธ ณ น่าน | 19,977 | 20.45% | พ่ายแพ้ |
ชุมพร เขต 1 | 16 มกราคม พ.ศ. 2565 | วรพล อนันตศักดิ์ | 3,582 | 3.85% | พ่ายแพ้ |
สงขลา เขต 6 | 16 มกราคม พ.ศ. 2565 | ธิวัชร์ ดำแก้ว | 5,427 | 5.83% | พ่ายแพ้ |
กรุงเทพมหานคร เขต 9 | 30 มกราคม พ.ศ. 2565 | กรุณพล เทียนสุวรรณ | 20,361 | 24.10% | พ่ายแพ้ |
ระยอง เขต 3 | 10 กันยายน พ.ศ. 2566 | พงศธร ศรเพชรนรินทร์ | 39,296 | 58.95% | สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง |
การเลือกตั้งท้องถิ่น
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 พรรคก้าวไกลได้ส่ง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. พรรคก้าวไกล ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร[80] และขณะเดียวกัน ในการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 ที่จัดในวันเดียวกันนั้น พรรคก้าวไกลได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครครบทุก 50 เขต[81] โดยวิโรจน์ได้คะแนนทั้งสิ้น 253,938 เป็นอันดับสามในการเลือกตั้ง แม้จะไม่ได้ตำแหน่งผู้ว่าฯ แต่ก็สามารถครองสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ 14 ที่นั่ง เป็นอันดับสองรองมาจากพรรคเพื่อไทย
การเลือกตั้ง | ผู้สมัคร | คะแนนเสียงทั้งหมด | สัดส่วนคะแนนเสียง | ผลการเลือกตั้ง |
---|---|---|---|---|
2565 | วิโรจน์ ลักขณาอดิศร | 253,851 | 9.49% | พ่ายแพ้ |
การเลือกตั้ง | จำนวนที่นั่ง | คะแนนเสียงทั้งหมด | สัดส่วนคะแนนเสียง | ที่นั่งเปลี่ยน | ผลการเลือกตั้ง |
---|---|---|---|---|---|
2565 | 14 / 50
|
485,830 | 20.85% | 14 | เสียงข้างมากร่วมกับพรรคเพื่อไทย |
การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
พรรคก้าวไกลได้เปิดรับสมัครผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2566 โดยผู้สมัครที่ประกาศตัวแล้ว มีดังนี้[82]
จังหวัด | นาม | หมายเหตุ | ผลการเลือกตั้ง |
---|---|---|---|
กาญจนบุรี | ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค[a] | ||
เชียงใหม่ | พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ | อดีตผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) | ย้ายไปสังกัดพรรคประชาชนทั้งหมด |
ตราด | ชลธี นุ่มหนู | นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก | |
ภูเก็ต | นายแพทย์ เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล | อดีตรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต | |
ราชบุรี | ชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์ | ||
ลำพูน | วีระเดช ภู่พิสิฐ | อดีตหัวหน้าสำนักงานพรรคก้าวไกล ลำพูน | |
อุดรธานี | คณิศร ขุริรัง | ประธานสภาทนายความจังหวัดอุดรธานี 2 สมัย |
กิจกรรมอื่น ๆ ของพรรค
ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต
ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) เป็นหน่วยงานของพรรคก้าวไกลที่ทำหน้าที่ศึกษา รับฟัง แลกเปลี่ยน วิเคราะห์ และพัฒนาแนวทางและข้อเสนอนโยบายต่างๆ เพื่ออนาคตของสังคมประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าและเท่าเทียม[83] เปิดตัวเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2564 นำโดย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต โดยระยะแรกมีการนำเสนอมาตรการเฉพาะหน้า 7 ข้อ เพื่อช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา 2019 ที่ระบาดอย่างหนัก ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว เกิดการว่างงาน และเกิดการเลิกจ้าง[84]
วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2566 พรรคก้าวไกลและศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต จัดกิจกรรม “กาก้าวไกล เพศไหนก็คนเท่ากัน” เนื่องในวันสตรีสากล โดยกำหนดรูปแบบการจัดงานที่มีชื่อว่า การโอบรับอย่างเท่าเทียม ซึ่งพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวเปิดตัวนโยบายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ยืนยันพร้อมสานต่อภารกิจของพรรคอนาคตใหม่ ในการสร้างประเทศไทยที่คนไทยเท่าเทียมกัน ประเทศไทยเท่าทันโลก 10 นโยบาย เพื่อความเท่าเทียมทางเพศของพรรคก้าวไกล ซึ่งเรียงตามช่วงอายุของคนคนหนึ่งตั้งแต่เกิดจนแก่ ประกอบด้วย[85]
- ผ้าอนามัยไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม แจกฟรีในโรงเรียน
- ปฏิรูปการสอนเพศศึกษา ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ
- ตำรวจหญิงทุกสถานี
- ปรับปรุงกฎหมายต่อต้านความรุนแรงทางเพศ
- สมรสเท่าเทียม
- รับรองทุกเพศสภาพ คำนำหน้าตามสมัครใจ
- ยุติการตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ รับยาฟรีทุกโรงพยาบาล หรือสาธารณสุขตำบล
- สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้
- ศูนย์เลี้ยงเด็กใกล้บ้าน ห้องปั๊มนมในที่ทำงาน
- ตรวจคัดกรองฟรี 5 มะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทย
ข้อวิจารณ์
พรรคก้าวไกลมี สส. งูเห่าเกิดขึ้นเป็นชุดที่ 3 ต่อจาก 2 ชุดก่อนหน้าในสมัยพรรคอนาคตใหม่ โดยเกิดขึ้นในการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 หลังจากที่มี สส. ของพรรคลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย คือ อนุทิน ชาญวีรกูล และ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ โดยมีดังนี้
- ขวัญเลิศ พานิชมาท สส.ชลบุรี เขต 5
- คารม พลพรกลาง สส.บัญชีรายชื่อ
- เอกภพ เพียรพิเศษ สส.เชียงราย เขต 1
- พีรเดช คำสมุทร สส.เชียงราย เขต 6
โดยพรรคมีมติลงโทษห้ามร่วมงานทุกกิจกรรมของพรรค โดยไม่มีการขับออกแบบกลุ่มงูเห่าพรรคอนาคตใหม่ก่อนหน้านี้[86] ต่อมาย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยทั้งหมด
คำร้องคัดค้านการเป็น สส.
15 มิถุนายน พ.ศ. 2566 มีเอกสารที่นำเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ครั้งที่ 1 ปรากฎว่ามี ว่าที่ ส.ส. ที่ประกาศผลรับรอง 329 คน ขณะที่มี 71 เขต ที่มีเรื่องร้องคัดค้าน มีรายงานว่า เอกสารดังกล่าวอาจเป็นเอกสารสรุปของฝ่ายปฏิบัติการ แจ้งเรื่องร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ที่ยังไม่ได้นำเสนอต่อที่ประชุม กกต.[87] โดยพรรคก้าวไกลถูกร้องคัดค้านทั้งสิ้น 7 คน ดังนี้
ลำดับ | รายชื่อ สส. | เขตที่ลงเลือกตั้ง | ข้อกล่าวหา | สถานะปัจจุบัน |
---|---|---|---|---|
1 | รักชนก ศรีนอก | กรุงเทพมหานคร เขต 28 | โพสต์พาดพิงอดีตผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ในเฟซบุ๊ก เหตุจากการถูกผู้สนับสนุนพรรคดังกล่าวปล่อยข่าวเท็จ[88] |
ยังดำรงตำแหน่ง |
2 | ชริน วงศ์พันธ์เที่ยง | พระนครศรีอยุธยา เขต 2 | ยังดำรงตำแหน่ง | |
3 | ปดิพัทธ์ สันติภาดา | พิษณุโลก เขต 1 | ถูกตัดสิทธิทางการเมือง เป็นเวลา 10 ปี จากคดียุบพรรค | |
4 | จรัส คุ้มไข่น้ำ | ชลบุรี เขต 8 | ยังดำรงตำแหน่ง | |
5 | ยอดชาย พึ่งพร | ชลบุรี เขต 9 | ยังดำรงตำแหน่ง | |
6 | เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู | เชียงใหม่ เขต 1 | ยังดำรงตำแหน่ง | |
7 | สมชาติ เตชถาวรเจริญ | ภูเก็ต เขต 1 | ยังดำรงตำแหน่ง |
แต่ถึงกระนั้น กกต. ก็ประกาศรับรอง สส. ทั้ง 500 คนก่อน โดยได้ชี้แจงว่าจะดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง ทั้งนี้ เมื่อพรรคก้าวไกลถูกยุบ ปดิพัทธ์ซึ่งเคยเป็นกรรมการบริหารพรรคก็ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองด้วย ส่วนที่เหลือได้ย้ายไปสังกัดพรรคประขาชน
การกระทำของสมาชิกและ สส. ของพรรค
วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรคและว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่ 27 แถลงข่าวลาออกจากการเป็นว่าที่ ส.ส. หลังจากถูกจับข้อหาเมาแล้วขับในคืนก่อนหน้า[89] ส่งผลให้ สุเทพ อู่อ้น ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ ในลำดับที่ 40 และกรรมการบริหารพรรคสัดส่วนปีกแรงงาน ได้รับการเลื่อนลำดับขึ้นเป็นว่าที่ ส.ส. แทนณธีภัสร์[90]
นอกจากนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 เป็นต้นมา พรรคก้าวไกลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ภายหลังจากมีข้อเท็จจริงปรากฏขึ้นว่ามีสมาชิกพรรคหลายคน รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคด้วย มีพฤติกรรมคุกคาม ล่วงละเมิดทางเพศ หรือทำร้ายร่างกายผู้หญิงอยู่หลายกรณี ทำให้แฮชแท็ก #สสทําร้ายร่างกายผู้หญิง #สสก้าวไกลคุกคามทางเพศ และ #พรรคชายแท้ ติดเทรนด์ในเอ็กซ์ โดยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2566 พรรคก้าวไกลได้ชี้แจงว่า พรรคพบการกระทำความผิดดังกล่าวของสมาชิกพรรคจำนวน 4 กรณี ดังนั้น พรรคจึงประกาศดำเนินการปรับปรุงพรรคเพื่อป้องกันและรับมือปัญหาการคุกคามทางเพศโดยเฉพาะ[91] ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พรรคก้าวไกลได้จัดตั้งคณะทำงานพิเศษป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศ โดยมีเบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ และกรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคตะวันออก เป็นประธานคณะทำงาน[92] และจนถึงเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พรรคก้าวไกลได้ลงโทษสมาชิกพรรคที่กระทำความผิดข้างต้นทั้งหมดแล้ว ดังนี้
รายชื่อผู้กระทำความผิดในพรรค
ลำดับ | ผู้กระทำความผิด | ข้อกล่าวหา | ผล | วันที่มีผล | ||
---|---|---|---|---|---|---|
ชื่อ | สถานะทางการเมือง | เขตที่ลงเลือกตั้ง | ||||
1 | อานุภาพ ธารทอง | สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร | เขตสาทร | คุกคามทางเพศผู้เยาว์ | ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค | 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 |
2 | ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ | สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร | บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 27 | เมาแล้วขับ | ลาออกจากการเป็น สส.บัญชีรายชื่อ | 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 |
3 | สิริน สงวนสิน | สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร | กรุงเทพมหานคร เขต 31 | ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย และทำลายทรัพย์สินของแฟนสาว |
|
12 ตุลาคม พ.ศ. 2566 |
4 | เกรียงไกร จันกกผึ้ง | อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร | จังหวัดชัยภูมิ เขต 3 | ล่วงละเมิดทางเพศโฆษกหญิงของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง | ให้พ้นจากสมาชิกภาพโดยมติกรรมการบริหารพรรค[91] | |
5 | วุฒิพงษ์ ทองเหลา | สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร | จังหวัดปราจีนบุรี เขต 2 | คุกคามทางเพศ | ให้พ้นจากสมาชิกภาพโดยมติที่ประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[93] โดยต่อมาย้ายไปสังกัดพรรคชาติพัฒนากล้า[94] | 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 |
6 | ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ | สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร | กรุงเทพมหานคร เขต 26 |
| ||
ให้พ้นจากสมาชิกภาพโดยมติที่ประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[95] โดยต่อมาย้ายไปสังกัดพรรคไทยก้าวหน้า[96] | 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 |
ความพยายามแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
จากการจับกุมผู้ชุมนุมในการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 และมีแกนนำจำนวนมากและผู้ชุมนุมบางส่วนถูกตั้งข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พรรคก้าวไกลจึงมีความพยายามในการแก้ไขเนื้อหาในมาตรานี้ โดยเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 25 สังกัดพรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน ได้เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก 5 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในฐานความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท รวมถึงมาตรา 112 ให้มีโทษลดลงตามลำดับ[97] แต่สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ในสภาชุดนั้นตีกลับร่างนี้กลับไปให้พรรคก้าวไกลแก้ไข เนื่องจากเห็นว่าร่างดังกล่าวขัดต่อบทบัญญัติเรื่องการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดไม่ได้ของพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560[98] นอกจากนี้ ยังมีพรรคการเมืองหลายพรรคที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว และประกาศไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลหากพรรคก้าวไกลยังดำเนินนโยบายนี้ต่อ[50]
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความของสุวิทย์ ทองประเสริฐ (อดีตพุทธะอิสระ) ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและสั่งให้พรรคก้าวไกลเลิกหาเสียงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ภายใน 15 วัน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 โดยยึดคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่วินิจฉัยว่าข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เป็นการล้มล้างการปกครอง[99] เป็นแนวบรรทัดฐานในการดำเนินการกับพรรคก้าวไกล[100] แต่อัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการภายในระยะเวลาดังกล่าว ธีรยุทธจึงยื่นซ้ำต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน[101] สิบวันต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้สอบถามอัยการสูงสุดก่อน[102] แต่อัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการตามที่ร้องขอ จึงรับคำร้องเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม หรือเพียงหนึ่งวันก่อนการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก[103] และส่งผลให้ สส. และ สว. จำนวนมาก ใช้เหตุผลนี้ในการไม่สนับสนุนให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ บุคคลที่ได้รับเสนอชื่อจากพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี[104]
ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่าการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 1 และสั่งการให้พรรคก้าวไกลเลิกการกระทำทั้งหมดข้างต้นตามวรรค 2 ในทันที[105]
คดียุบพรรค
จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยับยั้งความพยายามแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรค และมีการเผยแพร่ฉบับเต็มของคำวินิจฉัยดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์[106] คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้นำคำวินิจฉัยฉบับเต็มนี้มาพิจารณาในเดือนถัดมา ก่อนจะมีมติเอกฉันท์ส่งคำร้องพร้อมความคิดเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญซ้ำให้ยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากเข้าข่ายกระทำการล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 92 (1) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560[107] ข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 3/2567 ในชั้นต้นมีกระแสข่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญเตรียมชี้ขาดในวันที่ 18 มิถุนายน 2567[108][109][110][111] ก่อนเลื่อนการพิจารณาไปเป็นวันที่ 3 กรกฎาคม[112][113][114]
ในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาให้ยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมืองแกนนำพรรคทั้งอดีตและปัจจุบันรวม 11 คนเป็นเวลา 10 ปี ขณะที่ ส.ส. ของพรรคทั้ง 143 คนยังคงปฏิบัติหน้าที่ในสภาต่อไปได้[115] แต่ต้องไปสังกัดพรรคใหม่ภายใน 60 วัน[116] ขณะที่ ศิริกัญญา ตันสกุล กำหนดนัดประชุมสมาชิกพรรคก้าวไกลเดิมในอีกสองวันถัดจากนั้น[117]
ภายหลังการยุบพรรค
ศิริกัญญา ตันสกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคประกาศต่อสื่อมวลชนว่า จะนำ ส.ส. ที่เหลือของพรรคทั้งสิ้น 143 คน ไปสังกัดพรรคใหม่ ต่อมา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลและอดีตประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคได้แถลงต่อมาว่า จะยังคงทำงานด้านการเมืองต่อไป รวมไปถึงการช่วยหาเสียงจังหวัดพิษณุโลก เขต 1 ซึ่งเป็นเขตที่ ปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิ์ ทำให้ตำแหน่งว่างลง พร้อมกับการหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี[118] ทั้งนี้ การเปิดตัวพรรคใหม่พร้อมเปิดให้สมัครสมาชิกพรรคครั้งแรก กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ณ อาคารไทยซัมมิททาวเวอร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งในวันดังกล่าวจะเปิดให้มีการรับบริจาคผ่านทางออนไลน์ด้วย[119] วันถัดมาพรรคใหม่นี้จะจัดกิจกรรมรับสมัครสมาชิก รวมถึงพบปะกับกรรมการบริหารพรรคใหม่ที่สเตเดียม วัน ทั้งนี้มีกระแสข่าวว่าศิริกัญญาและณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ จะเป็นหัวหน้าและเลขาธิการพรรคใหม่ที่เตรียมย้ายไปสังกัด ตามลำดับ[120] ต่อมานายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ[121]และธีรยุทธ สุวรรณเกสร ยื่นร้องต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)[122]กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจำนวน 44 คนที่ลงชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา 112 อาจถูกร้องจริยธรรม ซึ่งจะมีโทษเป็นการตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต[123][124][125]
การแยกไปตั้งพรรค
พรรคก้าวไกลเคยมีสมาชิกพรรคที่ลาออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือย้ายไปเป็นกรรมการบริหารพรรค โดยมีดังนี้
พรรคที่จัดตั้งก่อนการยุบพรรค
- พรรครวมไทยยูไนเต็ด โดย วินท์ สุธีรชัย อดีต สส.บัญชีรายชื่อ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค[126] (ปัจจุบันสิ้นสภาพพรรคการเมืองแล้ว และวินท์ในฐานะเลขานุการส่วนตัวของไตรรงค์ สุวรรณคีรี ได้ย้ายตามไตรรงค์เข้าสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ)
- พรรคเส้นด้าย นำโดย คริส โปตระนันทน์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ และอดีตผู้สมัคร สส.กรุงเทพมหานคร ร่วมกับพีรพล กนกวลัย สก.เขตพญาไท[127]
พรรคที่จัดตั้งหลังการยุบพรรค
ดูเพิ่ม
หมายเหตุ
- ↑ วรรษภณ แสงเป่า อดีตผู้สมัคร สส.กาญจนบุรี เขต 1 ลงในนามกลุ่มเพื่ออนาคตกาญจน์
อ้างอิง
- ↑ "การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต #ต้องก้าวไกล - พรรคก้าวไกล". พรรคก้าวไกล. 22 January 2023. สืบค้นเมื่อ 8 October 2023.
- ↑ "ด่วนที่สุด! ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคก้าวไกล". ไทยโพสต์. กรุงเทพมหานคร: บริษัท ไทยเจอร์นัลกรุ๊ป จำกัด. 7 August 2024. สืบค้นเมื่อ 7 August 2024.
- ↑ "ก้าวไกลเปิดตัว Think Tank".
- ↑ "4 ปีก้าวไกล ผู้คนและการเดินทาง สร้างพรรคของประชาชน". ทวิตเตอร์. 2024-08-09.
- ↑ "Move Forward Party to be Future home for 55 FFP MPs". Bangkok Post. Bangkokpost.com. สืบค้นเมื่อ 6 May 2020.
- ↑ "Stepping out of shadows". Bangkok Post. Bangkokpost.com. สืบค้นเมื่อ 6 May 2020.
- ↑ "'Progressive Movement' born". Bangkok Post. Bangkokpost.com. สืบค้นเมื่อ 6 May 2020.
- ↑ "Moving Forward: 55 Disbanded MPs Join New Party". Khaosodenglish.com. 9 March 2020. สืบค้นเมื่อ 6 May 2020.
- ↑ Reuters Editorial (5 May 2020). "Thai lawmakers from dissolved prominent opposition party to join new party". Reuters. สืบค้นเมื่อ 6 May 2020.
- ↑ Boonbandit, Tappanai (9 March 2020). "Moving Forward: 55 Disbanded MPs Join New Party". Khaosod English. สืบค้นเมื่อ 13 March 2020.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "New Thai group to replace dissolved Future Forward Party, SE Asia News & Top Stories". The Straits Times. 9 March 2020. สืบค้นเมื่อ 6 May 2020.
- ↑ "50 MPs join Move Forward". Bangkok Post. Bangkokpost.com. สืบค้นเมื่อ 6 May 2020.
- ↑ "Change at the top?". Bangkok Post. Bangkokpost.com. สืบค้นเมื่อ 6 May 2020.
- ↑ Regan, Helen (10 March 2020). "His party was banned. He faces jail. But Thailand's Thanathorn Juangroongruangkit vows to fight on - CNN". Edition.cnn.com. สืบค้นเมื่อ 6 May 2020.
- ↑ [11][12][13][14]
- ↑ "'ธนาธร' ชี้ไทยไม่มีประชาธิปไตย ส่งผลทั้งต่อคนไทย-ประเทศเพื่อนบ้าน ถึงประชาคมโลก". มติชน. 25 พฤษภาคม 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 พฤษภาคม 2022.
- ↑ "About Us". SocDem Asia. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2022. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2022.
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคร่วมพัฒนาชาติไทย
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคร่วมพัฒนาชาติไทย จาก ราชกิจจานุเบกษา 15 Feb 2018
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคร่วมพัฒนาชาติไทย จาก ราชกิจจานุเบกษา 22 Mar 2019
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคร่วมพัฒนาชาติไทย จาก ราชกิจจานุเบกษา 22 Mar 2019
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคผึ้งหลวง (ชื่อเดิมพรรคร่วมพัฒนาชาติไทย) จาก ราชกิจจานุเบกษา 6 Jun 2019
- ↑ "เลือกตั้ง 2562 : กกต.เปิดคะแนนดิบ 81 พรรค 100 %". Thai PBS.
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคผึ้งหลวง จาก ราชกิจจานุเบกษา 10 Oct 2019
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคผึ้งหลวง จาก ราชกิจจานุเบกษา 13 Feb 2020
- ↑ ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแต่ยังคงเป็นสมาชิกพรรค 5 Dec 2019
- ↑ "ก่อน ส.ส.ส้มเทกโอเวอร์? ใครเป็นใคร-ทำความรู้จัก'พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย-ผึ้งหลวง'". สำนักข่าวอิศรา. 2020-03-07.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคร่วมพัฒนาชาติไทย (ชื่อเดิมพรรคผึ้งหลวง) จาก ราชกิจจานุเบกษา 16 Apr 2020
- ↑ ประชุมใหญ่สามัญ 12 Jan 2020
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล (ชื่อเดิมพรรคร่วมพัฒนาชาติไทย) จาก ราชกิจจานุเบกษา 7 May 2020
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล จาก ราชกิจจานุเบกษา 14 May 2020
- ↑ "ไม่ผิดคาด "ทิม พิธา" นั่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมเปิดตัวโลโก้ใหม่". www.thairath.co.th. 2020-03-14.
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล จาก ราชกิจจานุเบกษา 20 Oct 2020
- ↑ Pornthida (2022-04-30). "ก้าวไกล จัดทัพใหม่สู้เลือกตั้ง แก้ข้อบังคับเอาผิดคุกคามทางเพศ". ประชาชาติธุรกิจ.
- ↑ ตรีสุวรรณ, หทัยกาญจน์ (8 มีนาคม 2020). "พรรคก้าวไกล : ทิม-พิธาประกาศสานต่ออุดมการณ์อนาคตใหม่ นำทีม 55 ส.ส. ย้าย 'บ้านใหม่ หัวใจเดิม'". บีบีซี.
- ↑ "เลือกตั้งท้องถิ่น 'ก้าวไกล-ก้าวหน้า' แยกกันเดิน ไม่ร่วมกันตี". กรุงเทพธุรกิจ. 18 มิถุนายน 2020.
- ↑ "เลือกตั้ง 2566 : ก้าวไกลตั้ง ลิซ่า ภคมน อดีตสื่อมวลชน เป็นรองโฆษกพรรค เสริมทัพกองโฆษกพรรคให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น". เดอะสแตนดาร์ด. 2023-06-19. สืบค้นเมื่อ 2023-08-17.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 38.0 38.1 "ด่วน! พิธา ลาออกหัวหน้าพรรค เปิดทางก้าวไกล รับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน". มติชน. 2023-09-15. สืบค้นเมื่อ 2023-09-15.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ไม่พลิก! ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ 'ชัยธวัช' หัวหน้าพรรคก้าวไกล คนใหม่". ข่าวสด. 2023-09-23. สืบค้นเมื่อ 2023-09-23.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ชัยธวัชเปิดใจเป็นเพียง "ปรับทัพชั่วคราว" พร้อมถอยเมื่อพิธากลับมาเป็นส.ส." โพสต์ทูเดย์. 2023-09-23. สืบค้นเมื่อ 2023-09-23.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ""พิธา"คัมแบ็กหัวหน้าพรรคก้าวไกลในเดือนเมษายนนี้". thansettakij. 2024-01-24.
- ↑ ""ก้าวไกล" เปิดตัว "อิศราวุธ ณ น่าน" ลงเลือกตั้งซ่อมสมุทรปราการ". pptvhd36.com. 2020-07-10.
- ↑ "อดีตผู้สมัคร ส.ส.สมุทรปราการ ประกาศตัดขาด 'พรรคก้าวไกล' ฉุนถูกเขี่ยทิ้งเลือกตั้งซ่อม". Thai Post | อิสรภาพแห่งความคิด (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "แพแตก! 'บิ๊กเพื่อไทย' ประณาม 'ก้าวไกล' เล่นบทสองหน้า ปู้ยี่ปู้ยำประชาธิปไตย". ไทยโพสต์. 8 July 2022. สืบค้นเมื่อ 31 August 2022.
- ↑ "สูตรหาร 500 เอฟเฟกต์! ส.ส.วัน ลั่นผมมีสิทธิ์ที่จะคิด 'ก้าวไกล' เล่นบทสองหน้า". ไทยโพสต์. 8 July 2022. สืบค้นเมื่อ 31 August 2022.
- ↑ ""พิธา" ยันจุดยืน "ก้าวไกล" หนุนสูตรหาร 100 เชื่อไม่มียื้อกม.เลือกตั้งเกิน 180 วัน". สยามรัฐ. 4 August 2022. สืบค้นเมื่อ 31 August 2022.
- ↑ "'ประยุทธ์' ปัดตก 'ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน' ฉบับก้าวไกลที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน". prachatai.com. 2020-11-25.
- ↑ workpointTODAY Writer (8 มิถุนายน 2022). "สภาฯ รับหลักการ ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ตั้งกมธ.วิสามัญ แปรญัตติ 7 วัน ประชาชน รายย่อยได้ลุ้น ผลิตเหล้า-เบียร์เอง". เวิร์คพอยท์ทูเดย์.
- ↑ "ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม-คู่ชีวิต : ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง ก่อนบังคับใช้เป็นกฎหมาย". บีบีซี. 15 มิถุนายน 2022.
- ↑ 50.0 50.1 "อนาคตก้าวไกล กลางดงต้านนโยบายแก้ ม. 112". BBC News ไทย. 24 October 2022. สืบค้นเมื่อ 27 January 2023.
- ↑ matichon (2023-01-28). "'ก้าวไกล' จัดประชุมใหญ่ 'ชัยธวัช' ปลื้มสมาชิกแซงสมัยอนาคตใหม่ ผุดแอพพ์ 'ก้าวไกลทูเดย์'". มติชนออนไลน์.
- ↑ "รรคก้าวไกลเปิดห้องดิสคอร์ด ก้าว Geek รวมตัวคน Geek ระดมความคิดแก้ไขปัญหาประเทศ". beartai.com. 2023-05-16.
- ↑ ""พริษฐ์" ประกาศบทบาท "ก้าวไกล" ฐานะฝ่ายค้าน จ่อเปิดสมรภูมิสภาฯ-เน้นตรวจสอบ". bangkokbiznews. 2023-09-24.
- ↑ "10 พรรคการเมือง ประชาชนอุดหนุนภาษีปี 2565 มากที่สุด 'ก้าวไกล' 39 ล้าน – เพื่อไทย 4.5 ล้าน". เดอะสแตนดาร์ด. 2023-10-04. สืบค้นเมื่อ 2023-10-05.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ก้าวไกล ปลื้มยอดเงินบริจาคพุ่ง เกือบ 40 ล้าน ขึ้นแท่นที่ 1 คนอุดหนุนภาษี 3 ปีติดต่อกัน". มติชน. 2023-10-05. สืบค้นเมื่อ 2023-10-05.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ""พรรคก้าวไกล" เปิดรับสมัครผู้ลงเลือกตั้ง นายก อบจ. และสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) - สำนักข่าว บางกอก ทูเดย์" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2023-10-20.
- ↑ "ก้าวไกล ชักธงรบ สู้ทุกสนามเลือกตั้ง ท้าชนบ้านใหญ่ ชิงชัยนายกฯอบจ.2568". posttoday. 2023-10-22.
- ↑ คณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล เก็บถาวร 2022-01-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 15 มกราคม 2565
- ↑ "'ปดิพัทธ์' ลาออกจาก กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล หลังได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1". workpointTODAY.
- ↑ 60.0 60.1 "บุคลากรพรรค - พรรคก้าวไกล".
- ↑ "เลือกตั้ง 2566 : กกต.แถลงผลเลือกตั้ง "ก้าวไกล"อันดับหนึ่ง 18 พรรคได้ ส.ส.เข้าสภา". pptvhd36.com. 2023-05-15.
- ↑ ""ชัยธวัช" รับบทมือดีล "พรรคฝ่ายค้านเดิม" ตั้งรัฐบาล นัดคุย "พท." เป็นหลัก "พิธา" ต่อสายทีละพรรค เล็งส่งคนถก "ส.ว." ปรับความเข้าใจ". สยามรัฐ. 2023-05-16. สืบค้นเมื่อ 2023-08-25.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "เลือกตั้ง 2566 : ภาพแรกแกนนำ 6 พรรค "จับมือ" ตั้งรัฐบาลร่วมกับก้าวไกล". บีบีซีไทย. 2023-05-17. สืบค้นเมื่อ 2023-06-10.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "เกาะติดสูตรจัดตั้งรัฐบาล ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2566". เดอะ แมทเทอร์. 2023-05-19. สืบค้นเมื่อ 2023-06-10.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "พรรคร่วมรัฐบาล จ่อลงนาม MOU 22 พ.ค. ครบรอบ 9 ปีรัฐประหาร". ประชาชาติธุรกิจ. 2023-05-18. สืบค้นเมื่อ 2023-06-10.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "เลือกตั้ง 2566 : แก้ ม. 112-นิรโทษกรรมคดีการเมือง นโยบายก้าวไกลที่หายไปจาก MOU ตั้งรัฐบาล 8 พรรค". บีบีซีไทย. 2023-05-22. สืบค้นเมื่อ 2023-05-23.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "เลือกตั้ง 2566 : แก้ ม. 112-นิรโทษกรรมคดีการเมือง นโยบายก้าวไกลที่หายไปจาก MOU ตั้งรัฐบาล 8 พรรค". บีบีซีไทย. 2023-05-22. สืบค้นเมื่อ 2023-05-23.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "เลือกตั้ง 2566 : แก้ ม. 112-นิรโทษกรรมคดีการเมือง นโยบายก้าวไกลที่หายไปจาก MOU ตั้งรัฐบาล 8 พรรค". บีบีซีไทย. 2023-05-22. สืบค้นเมื่อ 2023-05-23.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "เลือกตั้ง2566 : เปิด "MOU 8 พรรค" แถลงจัดตั้งรัฐบาล". พีพีทีวี. 2023-05-22. สืบค้นเมื่อ 2023-05-23.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ผลโหวตนายก : "พิธา" ไม่ผ่านรอบแรก". ไทยพีบีเอส. 2023-07-13. สืบค้นเมื่อ 2023-08-25.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "เริ่มแล้ว! โหวตนายกฯ รอบ 2 'สุทิน' เสนอชื่อ 'พิธา' อีกรอบ 'อัครเดช' ลุกประท้วง". วอยซ์ทีวี. 2023-07-19. สืบค้นเมื่อ 2023-08-25.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ด่วน ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องหุ้นสื่อ "พิธา" พร้อมสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ทันที". ไทยรัฐ. 2023-07-19. สืบค้นเมื่อ 2023-07-19.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "โหวตนายกฯ รอบ 2 : ถก 7 ชั่วโมง โหวตซ้ำ "พิธา" นายกฯ รอบ 2 ไม่ได้". ไทยพีบีเอส. 2023-07-19. สืบค้นเมื่อ 2023-08-25.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ก้าวไกล ส่งไม้ต่อ เพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล". mcot.net. 2023-07-21.
- ↑ "'ก้าวไกล' ไม่โหวตเห็นชอบให้แคนดิเดตนายกฯ ของรัฐบาลข้ามขั้ว ขัดเจตนารมณ์ประชาชน ดันวาระประชาชนไม่ได้". prachatai.com.
- ↑ "Thai PBS เลือกนายกฯ #เลือกอนาคตประเทศไทย". Thai PBS. สืบค้นเมื่อ 2023-08-23.
- ↑ "ก้าวไกล ประกาศเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก เดินหน้าตรวจสอบฝ่ายบริหาร-ผลักดันกฎหมายก้าวหน้า". pptvhd36.com. 2023-08-22.
- ↑ "ชี้ "ปดิพัทธ์" ไม่ลาออก รองปธ.สภา "ผู้นำฝ่ายค้าน" หล่นไปที่หัวหน้า ปชป". ไทยรัฐ. 2023-08-25. สืบค้นเมื่อ 2023-08-25.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ด่วน! 'ก้าวไกล' ขับ 'ปดิพัทธ์' ออกจากสมาชิกพรรค ลุยงานฝ่ายค้านเต็มที่". กรุงเทพธุรกิจ. 2023-09-28. สืบค้นเมื่อ 2023-09-28.
- ↑ ไทยรัฐออนไลน์ (23 มกราคม 2022). ""ก้าวไกล" เปิดตัว "วิโรจน์ ลักขณาอดิศร" ลงชิงผู้ว่าฯ กทม.ตามคาด". ไทยรัฐ.
- ↑ "ส.ก.ก้าวไกล มาแรง ลุ้นเสียงข้างมากสภา กทม". ประชาชาติธุรกิจ. 12 พฤษภาคม 2022.
- ↑ "รายชื่อว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. ก้าวไกล - พรรคก้าวไกล". 2024-07-09.
- ↑ "Think Forward Center". Think Forward Center.
- ↑ "ก้าวไกลเปิดตัว Think Tank ประเดิมข้อเสนอ 7 ข้อช่วยผู้ได้รับผลกระทบโควิด". The Opener (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "พรรคก้าวไกล เปิดนโยบายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ..." thainews.prd.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-04. สืบค้นเมื่อ 2023-10-03.
- ↑ "ย้อนรอย'งูเห่าสีส้ม' 'อนาคตใหม่-ก้าวไกล' สู่ชายคารัฐบาล". bangkokbiznews. 2021-06-03.
- ↑ "เปิดชื่อ 71 ว่าที่ ส.ส. กกต.จ่อแขวน เหตุร้องคัดค้าน". Thai PBS.
- ↑ "ทีมโฆษกปชป. โต้ ผู้สมัคร ก้าวไกล หลังดึง "สากล ม่วงศิริ" โยงเกี่ยวเฟคนิวส์". theroom44channel.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "เตอร์ ณธีภัสร์" ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ประกาศลาออก ขอโทษปมเมาแล้วขับ
- ↑ เลือกตั้ง2566 : "สุเทพ อู่อ้น" เลื่อนนั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แทน "ณธีภัสร์"
- ↑ 91.0 91.1 91.2 "'พริษฐ์'แจงสอบสส.คุกคามทางเพศมีข้อยุติก้าวไกลไม่ปกป้องคนทำผิด". โพสต์ทูเดย์. 12 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2023.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ""ก้าวไกล" ตั้งคณะทำงานพิเศษป้องกัน แก้ปัญหารุนแรงทางเพศ "เบญจา" นั่งประธาน". ไทยรัฐ. 18 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2023.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 93.0 93.1 "ก้าวไกล ขับ "วุฒิพงศ์" พ้นพรรค ส่วน "ไชยามพวาน" ตัดสิทธิพึงมี จี้ออกมารับผิด". ไทยรัฐ. 1 พฤศจิกายน 2023. สืบค้นเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2023.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ""สส.แจ้" วุฒิพงศ์ สส.ปราจีนบุรี สมัครเข้าสังกัด "พรรคชาติพัฒนากล้า" แล้ว". www.thairath.co.th. 2023-11-29.
- ↑ "ขับ "ปูอัด" ไชยามพวาน พ้นสมาชิกพรรค "ก้าวไกล"". ไทยพีบีเอส. 2023-11-07. สืบค้นเมื่อ 2023-11-07.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "สส.คนแรก! "ไชยามพวาน" เข้าพรรคไทยก้าวหน้า". Thai PBS.
- ↑ "ม.112: ส.ส.ก้าวไกล 9 คนไม่ร่วมลงชื่อแก้กฎหมายหมิ่นฯ พิธาชี้ "เป็นประชาธิปไตยในพรรค"". บีบีซีไทย. 10 กุมภาพันธ์ 2021. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ต่อรองเก้าอี้ปธ.สภาฯเหตุมีส.ส.ใกล้เคียงกัน 'ชวน' แจงไม่บรรจุแก้112เพราะขัดรธน". เดลินิวส์. 31 พฤษภาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ศาลรัฐธรรมนูญชี้ ชุมนุม 10 สิงหา 63 "ล้มล้างการปกครอง"". บีบีซีไทย. 10 พฤศจิกายน 2021. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2024.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ""ธีรยุทธ" ร้อง อสส. ส่งเรื่องให้ศาล รธน. สั่ง "พิธา-ก้าวไกล" ยุติแก้ ม.112". ไทยรัฐ. 30 พฤษภาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "เลือกตั้ง 2566 : ทนายความอิสระร้องศาลรัฐธรรมนูญ สั่ง พิธา-ก้าวไกล เลิกล้มล้างการปกครอง-แก้ไข ม.112 เหตุมุ่งหวังประโยชน์ทางการเมือง เจตนาไม่บริสุทธิ์". เดอะสแตนดาร์ด. 16 มิถุนายน 2023. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ศาล รธน. สั่งอัยการสูงสุด แจง รับหรือไม่รับคำร้อง พิธาหาเสียง แก้ ม.112". ประชาชาติธุรกิจ. 26 มิถุนายน 2023. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ศาล รธน. รับคำร้อง "พิธา-ก้าวไกล" เสนอแก้ ม.112". ไทยพีบีเอส. 12 กรกฎาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "จากเลือกนายกฯ สู่การอภิปรายก้าวไกลเรื่อง 'แก้มาตรา 112'". ไทยรัฐพลัส. ไทยรัฐ. 13 กรกฎาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ศาลรธน. มีมติเอกฉันท์ 9 : 0 ก้าวไกล หาเสียงแก้ม.112 ล้มล้างการปกครอง". มติชน. 31 มกราคม 2024. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ฉบับเต็ม ราชกิจจาฯเผยแพร่คำวินิจฉัยศาล รธน. 'พิธา-ก้าวไกล' เสนอแก้ 112 ล้มล้างการปกครอง". มติชน. 29 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ด่วน! กกต.มีมติเอกฉันท์ส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล". ฐานเศรษฐกิจ. 12 มีนาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ยังไม่เคาะ! ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง กกต.ยื่นหลักฐานเพิ่มคดียุบก้าวไกล นัดถกต่อ 18 มิ.ย." www.sanook.com/news. 2024-06-12.
- ↑ "ศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกล 18 มิ.ย. สั่ง กกต. ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐาน". www.thairath.co.th. 2024-06-12.
- ↑ Panichakul, Pornlada (2024-06-12). "ศาล รธน.เรียกพยานหลักฐานคดี ยุบ "ก้าวไกล"-คุณสมบัตินายกฯ ใน 17 มิ.ย. นัดพิจารณาต่อ 18 มิ.ย. : อินโฟเควสท์". สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "ศาล รธน.นัดพิจารณาคดี 'พรรคก้าวไกล-เศรษฐา' 18 มิ.ย.นี้ - ThaiPublica". thaipublica.org. 2024-06-12.
- ↑ "ศาลรธน. นัดพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกลต่อ 3 ก.ค.นี้ ให้มาตรวจหลักฐาน 9 ก.ค." www.thairath.co.th. 2024-06-18.
- ↑ "ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณา "ยุบพรรคก้าวไกล" อีกครั้ง 3 ก.ค.นี้". Thai PBS.
- ↑ Setboonsarng; Thepgumpanat, Chayut; Panarat (2024-08-07). "Thai court orders dissolution of anti-establishment Move Forward party". Reuters. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-08-07. สืบค้นเมื่อ 2024-08-07.
{{cite news}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ Setboonsarng; Thepgumpanat, Chayut; Panarat (2024-08-07). "Thai court orders dissolution of anti-establishment Move Forward party". Reuters. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-08-07. สืบค้นเมื่อ 2024-08-07.
{{cite news}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ สภาฯ ถอดป้าย “พรรคก้าวไกล” 143 สส. ไร้สังกัดทำหน้าที่ต่อ “เรืองไกร” จึ้ ป.ป.ช. เร่งสอบ 44 สส. ผิดจริยธรรมร้ายแรง?
- ↑ "ก้าวไกล แถลงหลังถูกยุบพรรค นัด 9 สิงหาคม เปิดตัวพรรคใหม่". สำนักข่าวไทย.
- ↑ "ยักไหล่แล้วไปต่อ! ศิริกัญญานำ สส.ก้าวไกลเข้าบ้านใหม่ 9 ส.ค." www.thaipbs.or.th.
- ↑ "การันตีไร้งูเห่า! 143 สส.ก้าวไกล โชว์ปึ๊กย้ายไปพรรคใหม่ 100% เปิดตัว 9 ส.ค." bangkokbiznews. 2024-08-08.
- ↑ "เปิดชื่อแกนนำรุ่นใหม่ 'ไหม-เท้ง' รับไม้ต่อ เปิดตัว 9 ส.ค." มติชน.
- ↑ https://www.khaosod.co.th/politics/news_9352939 เช็กแถว 44 สส.ก้าวไกล ปมลงชื่อยื่นแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 หากศาลฎีกาชี้ผิด จ่อเลือกตั้งใหม่ 8 เขต บัญชีรายชื่อปลิว 17 คน
- ↑ Thongsak (2024-08-07). "เอาตาย! ธีรยุทธเตรียมยื่น ป.ป.ช.ฟัน 44 อดีต สส.ก้าวไกลชงแก้มาตรา 112".
- ↑ https://www.matichon.co.th/politics/news_4726303 เช็กชื่อ 44 ส.ส.ก้าวไกล เซ็นแก้ 112 ถ้าผิดยกล็อต ทำบิ๊กเนมปลิวพรึบ-เลือกซ่อมทันที 8 เขต...
- ↑ "ดาบสองฟันจริยธรรม "44 สส.ก้าวไกล" โทษตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต". thansettakij. 2024-08-08.
- ↑ https://www.pptvhd36.com (2024-08-08). "ระเบิดลูกโซ่หลังยุบ "ก้าวไกล" 44 สส.ถูกตัดสิทธิหมด?-ยิ่งยุบยิ่งโตจะเกิดขึ้นจริง?". pptvhd36.com.
{{cite web}}
: แหล่งข้อมูลอื่นใน
(help)|last=
- ↑ "4 แกนนำเปิดทีม 'รวมไทย ยูไนเต็ด' ชูปฏิรูปการเมือง". workpointTODAY.
- ↑ "จับตาเลือกตั้ง เส้นด้ายเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ เป็น 'พรรคเส้นด้าย' เตรียมเซอร์ไพรส์วันอาทิตย์นี้". workpointTODAY.