การขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ป
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
วันที่ | 23 มกราคม 2549 |
---|---|
ผู้เข้าร่วม | |
ผล |
|
ต้องหา | ทักษิณ ชินวัตร |
ข้อหา | ร่ำรวยผิดปกติและได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม |
จำนวนถูกพิพากษาลงโทษ | ยึดทรัพย์ 46,373 ล้านบาทให้ตกเป็นของแผ่นดินในปี 2553 และจำคุก 5 ปีในปี 2563[1] |
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับ |
พรรคการเมืองหลักที่เกี่ยวข้อง
|
การเมืองไทย • ประวัติศาสตร์ไทย |
กรณีตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ป ในวันที่ 23 มกราคม 2549 ระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ ได้ขายหุ้นที่ครอบครองอยู่ทั้งหมดในกลุ่มบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ชินคอร์ป) ให้แก่บริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ (พีทีอี) จำกัด (เทมาเส็ก) หรือ กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ผ่านบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำนวน 1,487,740,000 หุ้น (49.595% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด) มูลค่าหุ้นละ 49.25 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 73,271,200,910 บาท ซึ่งเป็นการขายหุ้นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประเทศไทย ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสังคมไทย โดย พ.ต.ท. ทักษิณ ชี้แจงว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นจุดที่ทำให้ การขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปีนั้นขยายตัวออกไปในวงกว้าง
ในปี 2553 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายึดทรัพย์ 46,373 ล้านบาทให้ตกเป็นของแผ่นดินตามข้อกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติและผลประโยชน์ทับซ้อน และในคดีที่เพิ่งสิ้นสุดในปี 2563 ศาลพิพากษาจำคุกเพิ่มอีก 5 ปี
ลำดับเหตุการณ์
- 12 ธันวาคม 2548 - ข่าวปรากฏในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจว่า มีการเจรจาขายหุ้นชินคอร์ปกับกลุ่มสิงเทลและไชน่าเทเลคอม โดยทางผู้บริหารชินคอร์ปได้ปฏิเสธข่าวว่าไม่เป็นความจริง
- วันศุกร์ที่ 6 มกราคม 2549 - ข้อความว่า "ไม่ทราบ ต้องไปถามลูกผม ไม่ใช่มาถามผม" จากการสอบถามของนักข่าวต่อ พ.ต.ท. ทักษิณเกี่ยวกับเรื่องการขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ป
- วันพฤหัสที่ 12 มกราคม 2549 - บริษัท กุหลาบแก้ว จัดตั้งขึ้น
- วันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2549 - รัฐบาลประกาศใช้ พระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) เปลี่ยนจากฉบับที่ 1 ที่ออกเมื่อ พ.ศ. 2544
- วันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2549 - ตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ป
การวิพากษ์วิจารณ์
การซื้อขายหุ้นครั้งนี้ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน องค์กรเอกชน นักวิชาการบางส่วน รวมทั้งสาธารณชน เป็นอย่างมาก ทั้งในประเด็นการได้รับยกเว้นภาษี ประเด็นเรื่องจังหวะเวลาที่ขายหุ้นซึ่งเกิดหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม ฉบับใหม่เพียงสองวัน และประเด็นเรื่องการที่กิจการสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นกิจการที่สำคัญต่อความมั่นคงของชาติ ต้องตกไปอยู่ในการบริหารของต่างชาติ เช่น โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ที่เปรียบว่าทักษิณเลวกว่าซัดดัม ฮุสเซน ผู้เผด็จการชาวอิรัก ที่อย่างน้อยก็ต่อสู้เพื่อมาตุภูมิ[2]
นอกจากนี้ผู้วิจารณ์ได้แสดงความสงสัยต่อความตั้งใจของ พ.ต.ท. ทักษิณ ที่ให้เหตุผลว่าตระกูลชินวัตรตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดออกไป เนื่องจากต้องการลบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ที่มีมาตลอดตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกว่า การดำรงตำแหน่งที่มีผลต่อการกำหนดนโยบายรัฐ และการถือหุ้นหรือมีบุคคลใกล้ชิดถือหุ้นในกิจการที่จะได้รับผลได้เสียจากนโยบายรัฐ ในเวลาเดียวกันนั้น เป็นการขัดแย้งกันเองทางผลประโยชน์ โดยผู้วิจารณ์ได้ตั้งคำถามว่าถ้าหากมีความตั้งใจเช่นนั้นจริง ทำไมจึงไม่ขายหุ้นทั้งหมดเสียตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกฯ เมื่อ ปี พ.ศ. 2544 (5 ปีก่อนหน้า) สำหรับคำถามนี้ พ.ต.ท. ทักษิณตอบว่า เนื่องจากหุ้นเป็นจำนวนเงินสูงมาก การจะหาผู้ซื้อจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
อีกประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนและอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ คือเรื่องเกี่ยวกับที่มาของหุ้นจำนวนเพิ่มเติมของนายพานทองแท้ ชินวัตร และน.ส. พิณทองทา ชินวัตร ซึ่งในขั้นต้นระบุว่าซื้อมาจาก แอมเพิลริช (Ample Rich Investment, ARI) จำนวนเท่ากันคนละ 164,600,000 หุ้น สำหรับประเด็นนี้ ในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2548 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้มีหนังสือสั่งให้บุคคลทั้งสองชี้แจง เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 [3]ต่อมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรมสรรพากรตามไปอายัดทรัพย์สินของนาย พานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร อีก 12,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งคู่ได้นำคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ไปต่อสู่ในศาลภาษีอากรกลางจนชนะคดี เพราะบุคคลทั้งสองไม่ใช่เจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ตัวจริง ทำให้กรมสรรพากรต้องถอนอายัดทรัพย์สินคืนให้กับนาย พานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร[4]ในปี พ.ศ. 2555
การโจมตีประเด็นการเอื้อประโยชน์
ส่วนนี้ของบทความอาจต้องปรับปรุงให้มีมุมมองที่เป็นกลาง เนื่องจากนำเสนอมุมมองเพียงด้านเดียว ดูหน้าอภิปรายประกอบ โปรดอย่านำป้ายออกจนกว่าจะมีข้อสรุป |
ส่วนนี้ไม่มีการอ้างอิงจากเอกสารอ้างอิงหรือแหล่งข้อมูล โปรดช่วยพัฒนาส่วนนี้โดยเพิ่มแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ เนื้อหาที่ไม่มีการอ้างอิงอาจถูกคัดค้านหรือนำออก |
ประเด็นการขายหุ้นของ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้อำนาจเพื่อเอื้อต่อผลประโยชน์ต่อครอบครัว โดยนำไปเชื่อมโยงกับ พ.ร.บ ประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ 2548 ที่ประกาศใช้ก่อนการประกาศขายหุ้นอย่างเป็นทางการสองวัน โดยพ.ร.บ การประกอบกิจการโทรคมนาคมประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ 2549 ส่วนการประกาศการขายหุ้นอย่างเป็นทางการของครอบครัวชินวัตรเกิดขึ้นในวันที่ 23 มกราคม 2549 (อนึ่ง มีข่าวการเจรจาขายหุ้นของครอบครัวชินวัตรออกมาก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคม พ.ศ 2548 แต่ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ)
สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ การขยายสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในบริษัทที่ประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากไม่เกิน 25% เป็นไม่ถึง 50% และให้ยกเลิกสัดส่วนกรรมการบริษัทที่ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ออกทั้งหมด ซึ่งผู้วิจารณ์มองว่าสอดคล้องกับการที่ ครอบครัวชินวัตรและดามาพงศ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในชินคอร์ป ขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ จำนวน 49.595% ให้กับบริษัทเทมาเส็กของสิงคโปร์ ผ่านบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ (บริษัทถือหุ้นแทน) อนึ่ง การที่ต้องขาย ผ่านบริษัทโฮลดิ้งส์นั้น ก็เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้บริษัทที่ชินคอร์ปถือหุ้นอยู่ คือ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) บริษัทชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) (ShinSAT) และ บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติเกิน 49% เนื่องจากสามบริษัทดังกล่าวนี้ มีผู้ถือหุ้นต่างชาติจำนวนหนึ่งอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว
อย่างไรก็ตามมีการชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงต่อคำวิพากษ์วิจารณ์นี้ว่า พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม นั้น รัฐบาลต้องออกตามข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับองค์กรการค้าโลกตั้งแต่ปี พ.ศ 2541 ในยุครัฐบาลก่อนหน้านี้ [ต้องการอ้างอิง] โดยประเทศไทยจะต้องเปิดเสรีรับการลงทุนจากต่างประเทศภายในระยะเวลา 8 ปี และรัฐบาลได้ดำเนินการออกกฎหมายฉบับนี้ โดยส่งเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตั้งแต่ปี พ.ศ 2547 เมื่อการเจรจาขายหุ้นเกิดขึ้นในปลายปี 2548 ซึ่งดำเนินเนินการหลังจากฎหมายได้ผ่านรัฐสภาไปแล้วกำลังอยู่ในขั้นตอนการรอลงพระปรมาภิไธย [ต้องการอ้างอิง] จึงประกาศการตกลงภายหลังกฎหมายมีการประกาศใช้เพียง 2 วัน
ส่วนกรณีบริษัทไอทีวี ซึ่งเป็นกิจการสื่อสารมวลชน และหากมีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติเกินครึ่งหนึ่ง จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคห้า ซึ่งบัญญัติไว้ว่า เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งในการซื้อขายหุ้น หากปริมาณหุ้นของผู้ถือหุ้นใหม่นั้นขัดต่อกฎหมาย ผู้ถือหุ้นใหม่ก็จะต้องขายหุ้นของตนออกไป ไม่สามารถถือครองไว้ได้ (แต่กฎหมายไม่ได้ห้ามว่าจะขายไม่ได้ เพียงแต่ห้ามว่าไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ต่อไปได้) [ต้องการอ้างอิง]
ประเด็นอื่นๆ คือ มีผู้เกรงกันว่าการเปลี่ยนมือของผู้ถือหุ้นครั้งนี้จะทำให้ต่างชาติเข้ามามีอิทธิพลต่อกิจการโทรคมนาคมของประเทศเนื่องจาก บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของประเทศทั้งสองบริษัทคือ เอไอเอส (ชินคอร์ปถือหุ้น 42.8%, สิงเทล (สิงคโปร์) 19.2%) และชินแซท (ชินคอร์ป 51.38%) [ต้องการอ้างอิง] ต้องตกอยู่ภายใต้การบริหารงานของต่างชาติ. อย่างไรก็ตามกรณีเช่นนี้ก็เกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่รัฐบาลไทยมีนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศอย่างเสรี ตัวอย่างกิจการอื่นๆ ที่มีต่างชาติเป็นเจ้าของและดำเนินการ เช่น ธุรกิจพลังงาน และธุรกิจการเงินการธนาคาร (โรงกลั่นน้ำมัน 3 ใน 5 โรงกลั่นของไทยเป็นของต่างชาติ) [ต้องการอ้างอิง]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
เกี่ยวกับการยกเว้นภาษี
ส่วนนี้ไม่มีการอ้างอิงจากเอกสารอ้างอิงหรือแหล่งข้อมูล โปรดช่วยพัฒนาส่วนนี้โดยเพิ่มแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ เนื้อหาที่ไม่มีการอ้างอิงอาจถูกคัดค้านหรือนำออก |
สำหรับประเด็นการได้รับยกเว้นภาษีนั้น ผู้แทนตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ชี้แจงว่าไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด เนื่องจากบุคคลธรรมดาที่ขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ จะได้รับการยกเว้นภาษี ตามข้อ 2(23) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)โดยจุดประสงค์ของการยกเว้นนี้ เพื่อจูงใจให้บุคคลธรรมดาเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งผู้แทนตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ได้แก่ดร. สุวรรณ วลัยเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายภาษี ในวันแถลงข่าว
ข้อ 2 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ระบุว่า "ให้กำหนดเงินได้ต่อไปนี้เป็นเงินได้ตาม (17) ของมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ...
(23) เงินได้จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแต่ไม่รวมถึงเงินได้จากการขายหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้นกู้หรือพันธบัตร"
หมายเหตุ: มาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากรกำหนดเงินได้พึงประเมินประเภทที่ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ และอาจมีข้อพิจารณาว่าการขายหุ้นผ่านตลาดนั้นต้องไม่ใช่การขายเฉพาะเจาะจงที่ตกลงกันมาแล้วนอกตลาด
ประเด็นต่อมาตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร
บริษัทที่มีส่วนร่วมในการซื้อขายหุ้นครั้งนี้
ส่วนนี้ไม่มีการอ้างอิงจากเอกสารอ้างอิงหรือแหล่งข้อมูล โปรดช่วยพัฒนาส่วนนี้โดยเพิ่มแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ เนื้อหาที่ไม่มีการอ้างอิงอาจถูกคัดค้านหรือนำออก |
บริษัทที่เข้าถือหุ้นใน บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทที่มีส่วนร่วมในกรณีการซื้อขายหุ้นครั้งนี้
กุหลาบแก้ว
บริษัท กุหลาบแก้ว จัดตั้งเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2549 (ก่อนหน้าการซื้อขายหุ้น 11 วัน) มีผู้ถือหุ้นดังนี้
- นายสมยศ สุธีรพรชัย (สัญชาติไทย, อาชีพทนายความ) 5,094 หุ้น (50.09%)
- บริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ (นิติบุคคลต่างด้าว) 4,900 หุ้น (49%)
- และบุคคลธรรมดา (สัญชาติไทย) อีก 6 คน คนละ 1 หุ้น
รวมมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยทั้งหมด 51% และต่างชาติ 49% โดยหุ้นของผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยทั้งหมด เป็นหุ้นบุริมสิทธิ (หุ้นด้อยสิทธิ) และหุ้นของผู้ถือหุ้นต่างชาติทั้งหมด เป็นหุ้นสามัญ ในการประชุมจัดตั้งบริษัทกุหลาบแก้ว มีมติให้หุ้นบุริมสิทธิ 10 หุ้น มีสิทธิออกเสียงในประชุมผู้ถือหุ้น 1 เสียง และจำกัดเงินปันผลของหุ้นบุริมสิทธิไว้ที่ร้อยละ 3 รวมสิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยมีสิทธิออกเสียง 510 เสียง และผู้ถือหุ้นต่างชาติ 4,900 เสียง อำนาจตัดสินใจเบ็ดเสร็จจึงอยู่กับผู้ถือหุ้นต่างชาติ
ซีดาร์ โฮลดิ้งส์
บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์
มีผู้ถือหุ้นดังนี้
- บริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ (นิติบุคคลต่างด้าว) 48.99%
- บริษัท กุหลาบแก้ว (นิติบุคคลสัญชาติไทย) 41.1%
- ธนาคารไทยพาณิชย์ (นิติบุคคลสัญชาติไทย) 9.9%
ทำให้ในทางกฎหมายแล้ว บริษัทซีดาร์ฯ เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย (มีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นอยู่ 51%) แต่เมื่อดูเสียงผู้ถือหุ้นในการควบคุมการดำเนินงานของบริษัทแล้ว จะพบว่าเป็นสัดส่วนของต่างชาติถึง 90% ผ่านบริษัทไซเพรส 48.99% และกุหลาบแก้ว (ซึ่งอำนาจเบ็ดเสร็จในการตัดสินใจอยู่ที่ผู้ถือหุ้นต่างชาติ) 41.1%
อ้างอิง
- ↑ "ราชกิจจา เผยแพร่คำพิพากษา(ฉบับเต็ม) จำคุก "ทักษิณ ชินวัตร" คดีหุ้นชินคอร์ป". ประชาชาติธุรกิจ. 14 January 2021. สืบค้นเมื่อ 23 February 2021.
- ↑ หนังสือพิมพ์มติชน : หนังสือพิมพ์คุณภาพ เพื่อคุณภาพของประเทศ เก็บถาวร 21 กุมภาพันธ์ 2006 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "ก.ล.ต.สั่ง'พานทองแท้-พิณทองทา' แจงซื้อหุ้นชินใน7วัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-02-10. สืบค้นเมื่อ 2006-01-30.
- ↑ ปิดตำนานซุกหุ้นชินคอร์ป สรรพากรยุติบี้ภาษีครอบครัว “ทักษิณ ชินวัตร ” – “แก้วสรร” คาใจต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
แหล่งข้อมูลอื่น
- บทวิเคราะห์ 25 ประเด็นหลัก ในดีลเทคโอเวอร์กลุ่มชินคอร์ป (ฉบับปรับปรุง) , ม้านอก และ เด็กนอกกรอบ
- ชินคอร์ป: บริษัทไทย - หัวใจสิงคโปร์? จากโอเพ่นออนไลน์ 27 มกราคม 2549
- ขายชินคอร์ป ล้างมือในอ่างทองคำ ลบภาพผลประโยชน์ทับซ้อน? จากโอเพ่นออนไลน์ 18 มกราคม 2549
- วิเคราะห์เรื่องหุ้นของ บริษัทชิน ที่ แอมเพิล ริช ครอบครองจำนวน 32.92 ล้านหุ้น โดย กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ